24 มิถุนายน สมโภช การบังเกิดของนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง
(The Nativity of St John the Baptist, solemnity)
นักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เป็นนักบุญเพียงองค์เดียวในคริสตจักรที่มีวันฉลองทั้งวันเกิด และวันตาย โดยการกำหนดวันเกิดของท่านนั้น นับวันล่วงหน้าหกเดือนก่อนวันที่พระเยซูเจ้าทรงบังเกิด – ส่วนวันระลึกถึงท่านถูกตัดศีรษะ กำหนดเป็นวันที่ 29 สิงหาคม ที่จริงสิทธิพิเศษนี้ มีไว้สำหรับพระเยซูเจ้า และพระนางพรหมจารีมารีย์เท่านั้น (- วันฉลองแม่พระบังเกิด คือ วันที่ 8 กันยายน) ที่ท่านได้รับสิทธิ์เช่นนี้ก็เป็นไปตามที่นักบุญเบดา พระสงฆ์และนักปราชญ์พระศาสนจักร (St Bede the Venerable) ได้กล่าวไว้ว่า “ในการบังเกิดมา การเทศน์สอนประชาชน และการทำพิธีล้างของนักบุญยอห์นนั้น ท่านได้เป็นพยานยืนยันถึงการเสด็จมาบังเกิด การประกาศข่าวดี และพิธีล้างของพระคริสต์ที่กำลังจะมาถึง”
พระเยซูเจ้าได้เคยตรัสไว้ว่า “ในบรรดาผู้ที่เกิดจากสตรี ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่ายอห์นอีกแล้ว” (ลก 7:28) ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่พระเยซูเจ้า และพระนางมารีย์ทรงปฏิสนธิในพระหรรษทาน (= ปราศจากบาปกำเนิด) นักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้าง ซึ่งปฏิสนธิโดยมีบาปกำเนิดเหมือนมนุษย์คนอื่นๆ แต่ก็ได้รับการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ตอนที่อยู่ในครรภ์ของมารดา “… เขาจะได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา” (ลก 1:15)
บิดาของยอห์น คือ เศคาริยาห์ เป็นสมณะประจำเวรในหมวดอาบียาห์ ทำหน้าที่รับใช้ในพระวิหาร และมารดาคือ นางเอลีซาเบธ จากตระกูลสมณะอาโรน ทั้งสองคนชรามากแล้ว ความยิ่งใหญ่และความพิเศษของนักบุญยอห์นในประวัติศาสตร์แห่งความรอดคือ ช่วงจังหวะเวลาในการเกิดมา และการทำภารกิจของท่าน ดำเนินไปเป็นคู่ขนานกับการเสด็จมาบังเกิด และการประกาศข่าวดีขององค์พระผู้ไถ่ ซึ่งนักบุญลูกาก็ได้บันทึกไว้เป็นคู่ขนานตามลำดับ เช่นว่า การแจ้งข่าวของอัครทูตสวรรค์กาเบรียลว่านางเอลีซาเบธ ซึ่งอยู่ในวัยชรามากแล้วจะให้กำเนิดบุตร และแด่พระนางมารีย์ ซึ่งยังเป็นพรหมจารีอยู่ว่าจะทรงครรภ์ และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และพระเจ้าสูงสุด โดยพระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือพระนางมารีย์ และพระอานุภาพสูงสุดจะแผ่เงาปกคลุมพระนาง (เทียบ ลก 1:31, 35)
ในการทำตามบทบาทหน้าที่ของท่านที่เป็นผู้เตรียมทางเพื่อต้อนรับพระเมสสิยาห์ ก็เป็นไปตามที่ประกาศกอิสยาห์ได้กล่าวทำนายไว้ คือ “เสียงหนึ่งร้องว่า จงเตรียมทางของพระยาเวห์ในถิ่นทุรกันดาร จงเปิดทางตรงในทุ่งเวิ้งว้างสำหรับพระเจ้าของเราเถิด” (อสย 40:3) และการประกาศถึงพระเมสสิยาห์ “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) แล้วตัวท่านก็ค่อยๆ ลดบทบาทลง “พระองค์จะต้องทรงยิ่งใหญ่ขึ้น ส่วนข้าพเจ้าจะต้องด้อยลง” (ยน 3:30) และท้ายสุดที่ถือเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของท่านที่จะทำทางขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้ตรง ท่านจึงมิได้รีรอที่จะยืนหยัดต่อความจริง โดยกล่าวคำตักเตือนไปถึงผู้ปกครองแผ่นดิน คือกษัตริย์เฮโรด อันติปาส (Herod Antipas) ที่รับนางเฮโรเดียส ภรรยาของฟิลิปพระอนุชา มาเป็นมเหสี ท่านจึงถูกกษัตริย์เฮโรดองค์นี้ทรงสั่งให้จับกุม และล่ามโซ่ขังคุกไว้ ต่อมาก็ถูกตัดศีรษะในวันคล้ายวันประสูติของกษัตริย์เฮโรด ตามคำขอของบุตรหญิงของนางเฮโรเดียส ท่านได้สิ้นชีพเพื่อเป็นพยานยืนยันถึงความจริง
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เลขานุการของพระสันตะปาปาแถลงข่าวเพื่อชี้แจง
- อะไรคือรากเหง้าของบาปทั้งปวง ?
- สาส์นวันสันติสากล (ครั้งที่ 55)
- สาส์นวันผู้ป่วยสากลของสมเด็จพระสันตะปาปา: ความใกล้ชิด ความรักเมตตาเพื่อผู้ทุกข์ยาก
- สาส์นจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส โอกาสครบรอบ 58 ปี ของวันภาวนาสากลเพื่อกระแสเรียก