Skip to content

22 มิถุนายน นักบุญโทมัส โมร์ มรณสักขี (St Thomas More, Martyr [1477-1535])

ได้รับการขนานนามว่า “บุรุษแห่งทุกกาลสมัย” (“a man for all seasons”) โดย Erasmus นักบุญโทมัสเป็นบุตรของผู้พิพากษาของเมืองลอนดอนคนหนึ่ง ชื่อว่า จอห์น โมร์ (John More) ท่านได้ร่ำเรียนวิชากฎหมายจากอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford) และต่อมาไม่นานก็เป็นทนายความ เนื่องจากเป็นคนที่มีความศรัทธามาก ท่านได้เข้าฝึกปฏิบัติเรื่องทางด้านฝ่ายจิตกับพวกฤาษีคาร์ตูเซียน (Carthusian monks) เป็นเวลา 4 ปี เมื่ออายุ 27 ปี ได้แต่งงานกับ เจน โคล์ท (Jane Colt) มีลูกสาวด้วยกัน 3 คน และลูกชาย 1 คน เจนได้เรียนพูดลาตินจากท่าน จนสามารถร่วมวงสนทนากับบรรดาผู้ทรงความรู้ต่างๆ ที่มาเป็นแขกที่บ้านของท่านบ่อยๆ แต่หลังจาก 8 ปีที่แต่งงานอยู่ด้วยกัน เจนได้สิ้นชีพ ต่อมาโทมัสได้แต่งงานใหม่กับแม่ม่าย ชื่อ อลิซ มิดเดิลตัน (Alice Middleton) ซึ่งได้พิสูจน์ตนเองว่าเป็นแม่บ้านที่ยอดเยี่ยม และเป็นแม่เลี้ยงที่น่ารักของลูกทั้ง 4 คนของท่าน

โทมัส โมร์ มีชื่อเสียงรุ่งโรจน์ต่อสาธารณชนอย่างรวดเร็ว ได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกสภาด้วยวัย 26 ปี ได้ทำงานกับเจ้าหน้าที่พนักงานมณฑลของกรุงลอนดอน (sheriff of London) ซึ่งตำแหน่งนี้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร เช่นดูแลการเลือกตั้ง ยึดทรัพย์ (- จาก New Model English-Thai Dictionary ของ So Sethaputra) ทำให้เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดกับพวกคนจนๆ ต่อมาได้กลายเป็นสมาชิกสภาองคมนตรีของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (a member of King Hery VIII ‘s Privy Council) และในปี ค.ศ. 1529 ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรียุติธรรมของอังกฤษ มีหน้าที่เป็นอธิบดีศาลสูงสุด และเป็นประธานสภาขุนนางด้วย (= Lord Chancellor of England) แต่ตำแหน่งอันทรงเกียรติ และความรับผิดชอบเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ท่านลดความเอาใจใส่ต่อครอบครัวและการให้การศึกษาแบบคริสตชนต่อลูกๆของท่าน ท่านภาวนาอย่างศรัทธา ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม ผนวกเข้ากับการนำเอาการศึกษามาประยุกต์ใช้อย่างน่าชื่นชม สิ่งเหล่านี้คือ “สาระ” ในการดำเนินชีวิตของครอบครัวของท่าน ส่วนการหย่อนใจเช่น สนใจงานศิลปะ การอ่าน และการทำสวน คือ “เครื่องชูรส” ให้กับชีวิต ดังที่ครั้งหนึ่งท่านเคยเขียนไว้ว่า “มนุษย์เราอาจดำเนินชีวิตสำหรับโลกหน้า โดยที่ก็ยังมีความสุขอยู่ด้วย”

โทมัส โมร์ ใช้เวลานอนหลับวันละ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น ท่านมักสวมเสื้อผ้าเนื้อหยาบเพื่อใช้โทษบาป และแม้มีตำแหน่งสูงก็ยังไปร่วมในพิธีมิสซาที่วัดของท่าน ไปร่วมร้องเพลงในวัด ไปร่วมเดินแห่แสวงบุญ ท่านเคยเขียนว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของฉันทรงเดินเท้า ดังนั้น ฉันจะไม่ติดตามพระองค์ไปบนหลังม้า” ท่านไม่เคยสะสมเงินไว้ แต่แจกจ่ายให้คนจนและคนป่วย เป็นคนที่มีอารมณ์ดีเป็นธรรมชาติ เป็นคนที่ยืดหยุ่น แต่ท่านก็ให้ความสำคัญสูงสุดกับความจริง ความยุติธรรม และความซื่อสัตย์ต่อกฎเกณฑ์ของพระเจ้าและของพระศาสนจักร มากกว่าเกียรติยศทางโลก หรือการมีชื่อเสียง หรือความร่ำรวย

เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 ไม่มีรัชทายาทชายสืบราชสมบัติจากพระราชินี คัทริน แห่ง อารากอน (Queen Catherine of Aragon) พระองค์ทรงร้องขอไปทางโรมให้ประกาศการแต่งงานเป็นโมฆะ เพื่อจะทรงแต่งงานใหม่กับพระนางแอน โบลีน (Anne Boleyn) แต่ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิง พระเจ้าเฮนรี่ทรงโกรธมาก ทรงสั่งให้สภาที่ขึ้นกับพระองค์ออกกฎหมายสืบทอดมรดกใหม่ที่ประกาศให้พระองค์เป็นหัวหน้าศาสนจักรแห่งอังกฤษ (Head of the Church of England) โทมัส โมร์ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งประธานสภาขุนางเป็นการประท้วง และตระเตรียมตัวเองรวมทั้งครอบครัวให้พร้อมรับผลกระทบที่จะตามมา พวกเขาได้พิจารณาด้วยกันถึงชีวิตของบรรดามรณสักขีของพระศาสนจักรด้วยถ้อยคำแห่งกำลังใจต่อไปนี้ “จะดีสักเพียงไหนที่จะยอมทนทุกข์ ยอมสูญเสียทรัพย์ ยอมติดคุก เพื่อเห็นแก่ความรักต่อพระเจ้า”

และเมื่อท่านปฏิเสธที่จะให้คำสาบานใหม่ตามที่กษัตริย์ทรงเรียกร้อง จึงถูกจับคุมขังในคุก ในปี ค.ศ. 1534 ในการถูกไต่สวนในศาล ท่านได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่กล่าวหาท่าน ด้วยคำพูดที่ห้าวหาญดังนี้ “สำหรับสังฆราชองค์หนึ่งที่ท่านกล่าวอ้างมา แต่ฉันมีนักบุญเป็นร้อยๆคอยสนับสนุน และเพียงแค่รัฐสภาเดียวของท่าน ของฉันมีสภาทั่วไปทั้งหมดรวมเป็นพันๆปีคอยช่วยยืนยัน” แต่บรรดาลูกขุน ภายใต้การกดดันจากราชสำนัก ได้ตัดสินประหารชีวิตโทมัส โมร์ หลังจากถูกจำคุกเป็นเวลา 15 เดือน ก็ถูกนำตัวขึ้นไปบนเครื่องตัดศีรษะ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1535

โทมัส โมร์ เป็นหนึ่งในผู้ทรงความรู้ที่โดดเด่นมากในสมัยของท่าน เป็นคนที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ท่านเป็นผู้ประพันธ์หนังสือที่โด่งดังชื่อ “Utopia” ซึ่งมีเนื้อเรื่องเสียดสีล้อเลียนเกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขทางการเมืองในสมัยของท่าน เขียนเป็นภาษาลาตินเพื่อความขบขันในระหว่างมิตรสหายผู้คงแก่เรียนของท่าน เพื่อแสดงว่า คนๆหนึ่งสามารถไปได้ไกลถึงไหนในการหาเหตุผลจากธรรมชาติ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากการไขแสดง

ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศี โดยพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1886 และได้รับการประกาศว่าเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 และได้รับการประกาศว่าเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดาผู้นำทางการเมือง โดย นักบุญ จอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา ในปี “ปีติมหาการุญ” ค.ศ. 2000

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)