Skip to content

สาส์น “เพื่อวันแห่งพันธกิจประกาศข่าวดีสากล” ค.ศ. 2020 หรือพวกเราเคยเรียก “วันมิสซัง” Message 2020: WORLD MISSION DAY

“ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ โปรดส่งข้าพเจ้าไป” (อสย. 6: 8)

วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม 2020 วันนี้เป็นวันอาทิตย์สมโภชพระจิตเจ้า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงออกสาส์นวันแห่งพันธกิจประกาศข่าวดี ปี ค.ศ. 2020 (เคยเรียกว่าวันมิสซังสากล) โดยเน้นว่าพันธกิจแห่งการประกาศข่าวดีของพระศาสนจักรยังคงดำเนินต่อไป  แม้เกิดโรคระบาดโควิด-19 พวกเราจะรำลีกวันแห่งพันธกิจประกาศข่าวดี ในวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2020

        “ปีนี้เป็นปีที่พวกเราเผชิญความทุกข์และการท้าทายที่เกิดจากโรคระบาดโควิด-19 การเดินทางธรรมทูตของพระศาสนจักรทั้งมวลยังคงเดินหน้าต่อไปในแสงสว่างแห่งพระวาจาที่พวกเราพบในเรื่องการเรียกประกาศกอิสยาห์ “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ โปรดส่งข้าพเจ้าไป” (อสย. 6: 8) สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัส “การเข้าใจสิ่งที่พระเจ้ากำลังตรัสกับพวกเราในขณะนี้ที่มีโรคระบาดยังเป็นการท้าทายต่อพันธกิจต่างๆของพระศาสนจักร ต่อบุคคลที่เจ็บป่วย เผชิญกับความทุกข์ และการที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งท้าทายพวกเรา

        ความยากจนของผู้ที่ตายไปตามลำพัง ผู้ที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ที่สูญเสียหน้าที่การงานและสูญเสียรายได้ ผู้ที่ไร้บ้านที่อยู่อาศัย และผู้ที่ไม่มีอาหารจะกิน ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนแต่ท้าทายพันธกิจของเรา การถูกบังคับให้ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) และต้องอยู่ภายในบ้าน (stay at home) ผลักดันพวกเราให้พบว่า พวกเราต้องการความสัมพันธ์กันทางสังคม รวมทั้งความสัมพันธ์เป็นชุมชนกับพระเจ้า  นอกจากจะเพิ่มความไม่ไว้วางใจกันและการเพิกเฉยต่อกันแล้ว สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งจะต้องทำให้พวกเราสนใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับหนทางที่พวกเรามีความสัมพันธ์กับผู้อื่น”

        ในสาระของสาส์นสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเตือนใจว่า “พันธกิจแห่งการประกาศข่าวดีเป็นการตอบสนองอย่างเป็นอิสระ และด้วยการรับรู้อย่างดีถึงการเรียกร้องของพระเจ้า”  พระสันตะบิดรทรงกล่าวเพิ่มว่า ความสามารถที่จะแยกแยะว่าการเรียกดังกล่าวขึ้นอยู่กับการมี “ความสัมพันธ์ส่วนตัวแห่งความรักกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงประทับอยู่ในพระศาสนจักร”

ต่อไปนี้เป็นสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่เผยแพร่โดยสำนักข่าววาติกัน

ถึงลูกๆ และ พี่น้องชายหญิงที่รัก

        พ่อปรารถนาที่จะแสดงความกตัญญูต่อพระเจ้าสำหรับหน้าที่สำคัญซึ่งพระศาสนจักรทั่วโลกต้องปฏิบัติเป็นพิเศษในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนธรรมทูต  พ่อเชื่อมั่นว่า คำขวัญเมื่อปีที่แล้ว ช่วยกระตุ้นให้มีการกลับใจเชิงธรรมทูตในหลากหลายชุมชนในหนทางที่ปรากฏอยู่ภายใต้หัวข้อ “ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปถูกส่องออกไป: พระศาสนจักรของพระเยซูคริสต์สำหรับพันธกิจในโลก”

        ทว่า ปีนี้ที่เต็มไปด้วยการเผชิญความทุกข์ยากและการท้าทายที่เกิดจากการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19  การเดินทางธรรมทูตของพระศาสนจักรทั้งมวลยังคงเดินหน้าต่อไปในแสงสว่างที่พบในเรื่องกระแสเรียกของประกาศกอิสยาห์ “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ โปรดส่งข้าพเจ้าไป” (อสย. 6: 8) นี่เป็นการตอบสนองที่มีความใหม่อยู่เสมอต่อคำถามของพระเยซูคริสต์ “ข้าพเจ้าจะส่งผู้ใดไป?”  (ibid.)  การเชื้อเชิญจากหัวใจเปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระเจ้าท้าทายทั้งพระศาสนจักรและมนุษยชาติทั้งมวลท่ามกลางวิกฤตปัจจุบันของโลก  “ดุจศิษย์ในพระวรสาร พวกเราถูกโจมตีโดยที่ไม่รู้ตัวจากพายุที่ไม่คาดฝัน  พวกเรารับรู้อย่างดีว่าพวกเราอยู่ในเรือลำเดียวกัน เราทุกคนล้วนอ่อนแอ เหนื่อยล้าไม่เป็นโล้เป็นพาย แต่ในขณะเดียวกันซึ่งสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็น เราทุกคนถูกเรียกร้องให้พายเรือไปด้วยกัน เราทุกคนจำเป็นต้องให้ความบรรเทาใจผู้อื่น บนเรือลำนี้… พวกเราอยู่กันพร้อมหน้า เฉกเช่นศิษย์เหล่านั้นซึ่งพูดด้วยความร้อนใจเป็นเสียงเดียวกัน “พวกเรากำลังจะตาย” (มก. 4:38)  พวกเรารับรู้เช่นเดียวกันว่าพวกเราไม่สามารถที่จะคิดถึงแต่ตัวเอง มีแต่จะต้องพร้อมใจกันเท่านั้น พวกเราจึงจะสามารถทำสิ่งนี้ได้” (การรำพึง ณ ลานมหาวิหารนักบุญเปโตร วันที่ 27 มีนาคม 2020)  พวกเราตกใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร และหวาดกลัวมาก ความเจ็บปวดและความตายทำให้พวกเรามีประสบการณ์กับความอ่อนแอของบมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็เตือนใจพวกเราให้สำนึกในความปรารถนาลึกๆสำหรับชีวิตและความเป็นอิสระจากความชั่วร้าย  ในบริบทนี้การเรียกเข้าสู่พันธกิจการประกาศข่าวดี ซึ่งเป็นการเรียกให้พวกเราก้าวออกไปจากตัวเอง เพื่อเห็นแก่ความรักของพระเจ้า และเพื่อนมนุษย์จะกลายเป็นโอกาสที่พวกเราจะต้องแบ่งปัน รับใช้ และอธิษฐานภาวนาวิงวอน พันธกิจที่พระเจ้ามอบให้พวกเราแต่ละคนจะนำให้พวกเราพ้นจากความกลัว และการตรวจสอบมโนธรรมภายในตัวเอง เพื่อความสัมพันธ์ที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ซึ่งพวกเราจะพบตนเองได้อย่างชัดเจนเมื่อพวกเรามอบตนเองให้กับผู้อื่น

        ในการบูชาแห่งไม้กางเขนซึ่งเป็นพันธกิจของพระเยซูคริสต์ได้สำเร็จลุล่วงไปอย่างสมบูรณ์ (เทียบ ยน. 19: 28-30) พระเจ้าทรงเผยให้พวกเราเห็นว่าความรักของพระองค์นั้นมีต่อเราทุกคนและแต่ละคน (เทียบ ยน. 19: 26-27) พระองค์ทรงขอร้องให้พวกเรามีความพร้อม ทั้งเป็นการส่วนตัวที่จะถูกส่งออกไปเพื่อจะมอบชีวิตให้กับผู้อื่น เพราะว่าพระองค์เป็นองค์แห่งความรัก เป็นความรัก “เพื่อพันธกิจ” เสมอ ที่จะต้องออกไปเสมอเพื่อการมอบชีวิต เพราะความรักต่อพวกเรา พระองค์จึงทรงส่งพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์ลงมายังโลก (เทียบ ยน. 3: 16) พระเยซูคริสต์ทรงเป็นธรรมทูตของพระบิดา ชีวิตและพันธกิจของพระองค์เผยให้เห็นถึงความนอบน้อมอย่างสิ้นเชิงต่อพระประสงค์ของพระบิดา (เทียบ ยน. 4: 34; 6:  38; 8: 12-30; ฮบ. 10: 5-10) พระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์ และเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพเพื่อพวกเรา พระองค์ดึงดูดพวกเราเข้าไปร่วมในพันธกิจแห่งความรักของพระองค์ และพร้อมกับพระจิตผู้ทรงเป็นชีวิตของพระศาสนจักร พระองค์ทรงทำให้พวกเราเป็นศิษย์ของพระองค์ แล้วส่งพวกเราออกไปทำพันธกิจในโลกกับประชากร

        “ในพันธกิจ พระศาสนจักรที่กำลังก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่โครงการ ไม่ใช่กิจกรรมที่ต้องทำไปด้วยพลังล้วนๆแห่งอำเภอใจ เป็นพระเยซูคริสต์ผู้ทรงทำให้พระศาสนจักรออกไปจากตนเอง ในพันธกิจแห่งการประกาศพระวรสาร พวกท่านมีการขับเคลื่อนเพราะพระจิตทรงผลักดันพวกท่านและทำนุบำรุงพวกท่าน” ปราศจากพระองค์พวกเราทำอะไรไม่ได้เลย (Senza di Lui non Possiamo fare nulla; Essere missionary oggi nel mndo, Una conversazione on Gianni Valente, Lberia Editrice Vaticana: san Paulo, 2019, 1-17)  พระเจ้าทรงรักพวกเราก่อนเสมอ และพร้อมกับความรัก กระแสเรียกทุกอย่าง ทุกประเภทจะมาพร้อมกัน กระแสเรียกส่วนตัวของพวกเรามาจากความจริงที่ว่า พวกเราเป็นบุตร เป็นธิดาของพระเจ้าในพระศาสนจักร เป็นครอบครัวของพระองค์ พวกเราเป็นพี่เป็นน้องในความรักนั้นที่พระเยซูคริสต์ทรงแสดงให้พวกเราเห็น  ทว่าพวกเรา แต่ละบุคคลมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีรากฐานอยู่ในการเชื้อเชิญของพระเจ้าให้พวกเราเป็นบุตรของพระองค์ในพระศาสนจักร  โดยอาศัยศีลล้างบาปจะนำความเชื่ออย่างเป็นอิสระ และเป็นสิ่งที่ แต่ละบุคคลเป็น และอยู่ในดวงพระทัยของพระเจ้า

        ชีวิตของแต่ละบุคคลในฐานะที่เป็นของขวัญที่พวกเราได้รับมาแบบเปล่าๆ แบบฟรี โดยนัยแล้วก็เป็นการเชิญให้เข้าสู่ของขวัญแห่งตนเองนี้ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ซึ่งในผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปจะเจริญเติบโตในฐานะที่เป็นการตอบสนองต่อความรัก ในชีวิตการสมรสหรือในการถือโสด (พรหมจรรย์) เพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้า  ชีวิตมนุษย์เกิดจากความรักของพระเจ้า เติบโตขึ้นในความรัก และมีแนวโน้มสู่ความรัก  ไม่มีผู้ใดเลยถูกยกเว้นจากความรักของพระเจ้า และในการบูชาศักดิ์สิทธิ์แห่งพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์บนไม้กางเขน พระเจ้าทรงเอาชนะต่อบาปและความตาย (เทียบ รม. 8: 31-39) สำหรับพระเจ้า ความชั่วแม้บาปกลายเป็นการท้าทายที่พวกเราจะต้องตอบสนองด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่กว่า (เทียบ มธ. 5: 33-34; ลก. 22: 33-34) ในพระธรรมล้ำลึกปัสกา พระเมตตาของพระเจ้าเยียวยามนุษยชาติที่มีบาดแผล และพระเมตตานั้นก็หลั่งลงมายังทั่วจักรวาล พระศาสนจักรซึ่งเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์สากลแห่งความรักของพระเจ้าต่อชาวโลกยังคงดำเนินพันธกิจของพระเยซูคริสต์ต่อไปในประวัติศาสตร์  และการส่งพวกเราออกไปในทุกหนทุกแห่ง โดยอาศัยการเป็นประจักษ์พยานชีวิตในความเชื่อของพวกเรา และการประกาศพระวรสารพระเจ้าจะแสดงความรักของพระองค์ และในทำนองนี้จะได้สัมผัสและเปลี่ยนแปลงทั้งจิตใจ กาย สังคม และวัฒนธรรมในทุกเวลาและทุกสถานที่

        พันธกิจเป็นการตอบสนองต่อการเรียกของพระเจ้าโดยเสรีและโดยการรับรู้ แต่พวกเราจะสามารถแยกแยะการเรียกนี้ได้ก็ต่อเมื่อพวกเรามีความสัมพันธ์ส่วนตัวแห่งความรักกับพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงประทับอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์ ขอให้ถามตัวเราเองว่า พวกเราพร้อมที่จะต้อนรับการประทับอยู่ของพระจิตในชีวิตของพวกเราหรือไม่?  พวกเราพร้อมที่จะถูกส่งออกไป ณ เวลาใดยังสถานที่ใดเพื่อเป็นประจักษ์พยานชีวิตถึงความเชื่อของพวกเราในพระบิดาผู้ทรงเมตตา เพื่อที่จะประกาศพระวรสารแห่งการไถ่กู้ของพระเยซูคริสต์ เพื่อที่จะแบ่งปันชีวิตของพระจิตโดยการสร้างพระศาสนจักรหรือไม่? ดุจพระแม่มารีย์ มารดาของพระเยซูคริสต์ พวกเราพร้อมที่จะรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่? (เทียบ ลก. 1: 38) และนี่ไม่ใช่เรื่องของนามธรรม แต่ในบทนี้คือชีวิตจริงของพระศาสนจักรและของประวัติศาสตร์

        การเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าตรัสกับพวกเราในช่วงเวลาแห่งโรคระบาดนี้ยังหมายถึงการท้าทายต่อพันธกิจของพระศาสนจักรด้วย การเจ็บป่วย ความทุกข์ ความหวาดกลัว และการที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งท้าทายพวกเรา ความยากจนของผู้ที่ต้องตามลำพัง ผู้ที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ที่สูญเสียหน้าที่การงานและรายได้ คนไร้บ้าน  และคนที่ไม่มีอะไรจะกิน ซึ่งสถานการณืเช่นนี้ท้าทายพวกเรา  การถูกบังคับให้รักษาระยะห่างทางสังคม และต้องขังตัวอยู่แต่ภายในบ้าน ผลักดันพวกเราให้พบว่าพวกเราต้องการมีความสัมพันธ์ทางสังคมรวมถึงความสัมพันธ์ที่เป็นชุมชนกับพระเจ้าด้วย  นอกจากเหตุการณ์ต่างๆทำให้ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันและความเพิกเฉยต่อกันแล้ว สถานการณ์เช่นนี้ควรทำให้พวกเรายิ่งจะควรสนใจถึงหนทางที่พวกเราจะมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น  และการอธิษฐานภาวนาซึ่งพระเจ้าสัมผัสและขับเคลื่อนหัวใจของพวกเราควรทำให้พวกเราเปิดใจกว้างขึ้นต่อความต้องการของพี่น้องชายหญิงของพวกเรา เพื่อเห็นแก่ศักดิ์ศรีและเสรีภาพรวมถึงความรับผิดชอบของพวกเราที่ต้องเอาใจใส่ดูแลสิ่งสร้างทั้งมวลด้วย  ช่วงนี้เป็นไปไม่ได้ที่ประชาสัตบุรุษจะรวมตัวกันเป็นพระศาสนจักรเพื่อทำการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทหรือเข้าร่วมมิสซาทางกายภาพ  ยิ่งจะนำพาพวกเราให้ต้องมีการแบ่งปันประสบการณ์ของชุมขนคาทอลิก  หลายแห่งที่ไม่สามารถถวายมิสซาทุกวันอาทิตย์ ท่ามกลางปัญหาเหล่านี้ คำถามของพระเจ้า “แล้วเราจะส่งใครไป?” จึงเป็นคำถามสำหรับพวกเราอีกครั้งหนึ่งและกำลังต้องการคำตอบด้วยใจกว้างและมีความน่าเชื่อถือจากพวกเรา “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ โปรดส่งข้าพเจ้าไป” (อสย. 6: 8)   พระเจ้ายังทรงมองหาบุคคลที่พระองค์สามารถส่งออกไปในโลกและไปยังชนชาติต่างๆ เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความรักของพระองค์ถึงการที่พระองค์ทรงช่วยให้พวกเราพ้นจากบาปและความตาย ความช่วยเหลือของพระองค์ที่ทำให้พวกเรารอดพ้นจากความชั่วร้าย (เทียบ มธ. 9: 35-38; ลก. 10: 1-12)

        การเฉลิมฉลองวันแห่งพันธกิจประกาศข่าวดีสากล (วันมิสซัง) ยังเป็นโอกาสสำหรับการยืนยันว่าการอธิษฐานภาวนา และการไตร่ตรองของพวกเราและความช่วยเหลือด้านวัตถุแห่งการถวายทานของพวกท่าน ซึ่งเป็นโอกาสที่พวกท่านจะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในพันธกิจของพระเยซูคริสต์ในพระศาสนจักรของพระองค์ ความรักเมตตาที่แสดงออกในในการเรี่ยไรเงินบริจาคที่ปกติกระทำในช่วงของพิธีกรรมในวันอาทิตย์ที่สามในเดือนตุลาคม เพื่อสนับสนุนงานธรรมทูตที่ทำไปในนามของสมณองค์กรแห่งการแพร่ธรรม (PMS) เพื่อนตอบสนองต่อความต้องการทั้งฝ่ายร่างกายและฝ่ายจิตของประชาชน และของพระศาสนจักรทั่วโลกเพื่อความรอดของทุกคน

        ขอให้พระแม่มารีย์พรหมจารี ดวงดาราแห่งการประกาศพระวรสาร และผู้บรรเทาผู้ที่มีความทุกข์ ผู้เป็นศิษย์ธรรมทูตแห่งพระบุตรของพระแม่ โปรดวิงวอนต่อๆไปเพื่อพวกเราและทำนุบำรุงรักษาพวกเราด้วยเทอญ

        ให้ไว้ ณ กรุงโรม  มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม 2020 วันสมโภชพระจิต

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บสาส์นวันแห่งพันธกิจประกาศข่าวดีสากล จากพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)