สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงรำลึกถึง ครบรอบ 25 ปีของสมณสาส์นเวียน “UT UNUM SINT” (1995-2020)
“เพื่อเขาทุกคนจะได้เป็นหนึ่งเดียว”
พระองค์ทรงสำนึกบุญคุณในอดีตและทรงมีความหวังสำหรับอนาคต
ในจดหมายถึงพระคาร์ดินัลค็อกช (Koch) เมื่อรำลึกถึงสมณสาส์นเกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของคริสตชนของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 โอกาสนี้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงกล่าวชื่นชมความคิดริเริ่มใหม่ 2 ประการ
วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2020
“ในโอกาสครบรอบ 25 ปีแห่งสมณสาส์นฉบับนี้ ข้าพเจ้าต้องขอบคุณพระเจ้าสำหรับการเดินทางที่พระองค์ที่ประทานให้พวกเราเดินทางในฐานะคริสตชนเพื่อแสวงหาความเป็นเอกภาพที่สมบูรณ์ ข้าพเจ้าเองก็ขอร่วมใจในความอดทนของบุคคลต่างๆที่บางครั้งคิดว่าเราสามารถ และสมควรที่จะทำอะไรให้มากกว่านี้”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงย้ำประเด็นนี้กับพระคาร์ดินัลเคริท ค็อกช (Kurt Koch) สมณมนตรีสมณสภาเพื่อความเป็นเอกภาพของคริสตชน ในจดหมายโอกาสครบ 25 ปีแห่งสมณสาส์นเวียน “Ut Unum Sint” ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 (ออกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1995)
ในจดหมายลงวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 ลิขิตถึงพระคาร์ดินัลค็อกช ชาวสวิส ในฐานะที่พวกเราเป็นพี่น้องกัน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแสดงความหวังที่จะเห็นความเจริญก้าวหน้าต่อไป ตรัสว่า “พี่น้องที่รัก พวกเราต้องไม่ขาดความเชื่อและความกตัญญู เนื่องจากได้มีการดำเนินการไปหลายขั้นตอนแล้วในหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ เพื่อจะเยียวยาบาดแผลแห่งหลายศตวรรษและหลายพันปี”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่าความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกันได้มีการพัฒนาขึ้นซึ่งช่วยให้เอาชนะต่อความลำเอียงและอคติที่ฝังรากลึก ดังนั้นการเสวนาเชิงเทวศาสตร์และการเสวนาเชิงเมตตากิจได้มีการพัฒนามากขึ้นรวมถึงรูปแบบต่างๆของความร่วมมือในการเสวนาแห่งชีวิต ทั้งในระดับการอภิบาลและในระดับวัฒนธรรม
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวว่าความคิดของพระองค์หวนกลับไปยัง “บรรดาพี่น้องที่รัก” ของพระองค์ ซึ่งได้แก่ หัวหน้าของพระศาสนจักรต่างๆ กลุ่มคริสตชน รวมถึงพี่น้องชายหญิงของคริสต์ศาสนาทุกนิกาย ทุกแขนงองค์กร ผู้เป็นกัลยาณมิตรในการเดินทางนี้”
“เฉกเช่นศิษย์แห่งตำบลเอมมาอุส” พระองค์ตรัส “ขอให้พวกเรามีประสบการณ์กับการประทับอยู่ของพระเยซูคริสต์ผู้ที่เสด็จกลับฟื้นพระชนม์ ผู้ซึ่งเดินเคียงข้างพวกเราและอธิบายพระคัมภีร์ให้กับพวกเรา”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวต่อไปว่า “ขอให้พวกเรารำลึกถึงการหักปังของพระองค์ ในขณะที่พวกเรารอคอยวันที่พวกเราจะร่วมแบ่งปันกันบนโต๊ะแห่งศีลมหาสนิทด้วยกัน”
เมื่อรำลึกถึงสมณสาส์นเวียนชื่อ “Ut Unum Sint” ของยอห์น ปอลที่ 2 พร้อมกับการพิศเพ่งไปยังขอบฟ้าแห่งปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2000 “ซึ่งปรารถนาให้พระศาสนจักรในการเดินทางสู่สหัสวรรษที่สาม พวกเราควรที่จะคำนึงถึงคำภาวนาที่จริงใจแห่งพระอาจารย์ของพระศาสนจักร “เพื่อทุกคนจะได้เป็นหนึ่งเดียวกัน” (เทียบ ยน. 17: 21) ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงออกสมณสาส์นเวียนซึ่งยืนยัน “ชนิดที่เปลี่ยนมิได้” (UUS, ข้อ 3) ถึงหน้าที่ซึ่งต้องทำให้คริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักรคาทอลิก”
เมื่อรำลึกว่าเอกสารดังกล่าวออกในวันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า พระสันตะปาปาชาวโปแลนด์ นักบุญยอห์น ปอลที่ 2ทรงวางสมณสาส์นนี้ภายใต้เครื่องหมายของพระจิต พระผู้สถาปนาความเป็นเอกภาพในความหลากหลาย
“ในบริบทแห่งการสมโภชพระจิต และจารีตพิธีเดียวกันนั้น วันนี้พวกเราทำการรำลึกพร้อมกับข้อเสนอให้ประชากรของพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยังทรงแสดงความกตัญญูต่อทุกคน ที่ได้ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย และยังคงทำงานต่อไปในสมณสภานี้เพื่อการรับรู้อย่างดีถึงเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงมิได้นี้ให้คงมีชีวิตชีวาต่อไปในพระศาสนจักร
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า พระองค์ทรง “พอพระทัยเป็นพิเศษ” ที่ทราบถึงความคิดริเริ่มสองประการเมื่อเร็วๆนี้
“ประการแรก คือคู่มือการเดินทางเพื่อคริสตศาสนสัมพันธ์ หรือ Ecumenical Vademecum สำหรับบรรดาบิชอป ผู้นำระศาสนจักร ซึ่งจะพิมพ์ในเร็วๆนี้ นี่จะเป็นการกระตุ้นและชี้นำในการปฏิบัติความรับผิดชอบเกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของคริสตชน อันที่จริงการรับใช้ความเป็นเอกภาพเป็นมิติที่มีความสำคัญแห่งพันธกิจของบิชอปผู้นำพระศาสนจักรทุกองค์ ท่านเหล่านั้นผู้ซึ่งเป็น “เสาหลักที่มองเห็นได้แห่งความเป็นเอกภาพ” ในพระศาสนจักรของตน (Lumen Gentium, ข้อ 23; cf. CIC มาตรา 383 §3; CCEO มาตรา 902-908)”
“ความคิดริเริ่มประการที่สอง” พระองค์ตรัส “คือการเริ่มนิตยสารชื่อ “Acta Ecumenica” (กิจการแห่งคริสตศาสนสัมพันธ์) ซึ่งอาศัยการฟื้นฟูฝ่ายบริการข่าวสารของสมณสภาฯ ซึ่งมีความตั้งใจที่จะช่วยทุกคนที่ทำงานในการรับใช้ความเป็นเอกภาพ”
“ในเส้นทางที่จะนำไปสู่ความเอกภาพอย่างสมบูรณ์” สันตะบิดรฟรานซิสตรัส “ความสำคัญที่ต้องจดจำไว้ว่าความเจริญก้าวหน้านั้นเห็นอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการสำรวจขอบฟ้าใหม่ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันก็ คือการถามคำถามพร้อมกับการไตร่ตรองเอกสาร Ut Unum Sint นั่นคือคำว่าว่า Quanta est nobis via? กล่าวคือ พวกเราจะไปได้ไกลแค่ไหน (ข้อ 77) ที่แน่นอนประการหนึ่งคือ ความเป็นเอกภาพมิได้เป็นผลแห่งกิจกรรมของพวกเราเป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นของขวัญจากพระจิตเจ้า”
การพูดว่าเอกภาพ “จะไม่เกิดขึ้นเป็นแบบอัศจรรย์” ตรงกันข้าม ความเป็นเอกภาพเรียกร้องให้มี “การเดินทาง” ร่วมกัน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงให้ความเห็นว่า “พวกเราวอนพระจิตด้วยความไว้ใจ เพื่อให้ช่วยชี้นำการก้าวเดินของพวกเรา และทำให้ทุกคนสามารถได้ยินเสียงเรียกร้องให้ทำงาน เพื่อฟื้นฟูความเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความร้อนรนใหม่”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงสรุปด้วยการอธิษฐานว่า “ขอให้พระจิตโปรดดลบันดาลวิธีในอนาคตใหม่ และประทานความเข้มแข็งในความรักฉันพี่น้องระหว่างบรรดาศิษย์ของพระองค์ “เพื่อที่โลกจะได้เชื่อ” (ยน. 17: 21) เพื่อการสรรเสริญที่ยิ่งใหญ่ต่อพระบิดาเจ้าในสรวงสวรรค์”
ต่อไปนี้เป็นข้อความในจดหมายที่เผยแพร่โดยสำนักข่าววาติกัน (ฉบับเต็ม)
ถึงน้องชายที่รัก พระคาร์ดินัลเคริท ค็อกช (Kurt Koch)
สมณมนตรีแห่งสมณสภาเพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพของบรรดาคริสตชน
พรุ่งนี้ (วันที่ 25 พฤษภาคม 2020) จะครบ 25 ปีแห่งสมณสาส์นเวียนชื่อ “Ut Unum Sint” ออกโดยพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ด้วยการพิศเพ่งของพระองค์ไปยังขอบฟ้าแห่งปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2000 พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงปรารถนาให้พระศาสนจักรเดินทางสู่สหัสวรรษที่สาม จึงสมควรเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อคำภาวนาของพระเยซูคริสต์ พระอาจารย์ของพวกเราที่ทรงวอนขอ “เพื่อเขาทุกคนจะได้เป็นหนึ่งเดียวกัน” (เทียบ ยน. 17: 21) เพราะเหตุนี้พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงได้ออกสมณสาส์นเวียนที่ยืนยันสิ่งที่ “ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้” (UUS, ข้อ 3) นั่นคือหน้าที่ที่ต้องสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักรคาทอลิก พระองค์ทรงพิมพ์เอกสารดังกล่าวในวันสมโภชพระเยซูคริสต์เสด็จขึ้นสวรรค์ ด้วยการมอบให้อยู่ภายใต้เครื่องหมายของพระจิตผู้สถาปนาความเป็นเอกภาพในความหลากหลาย บัดนี้พวกเราทำการรำลึกถึงในบริบทแห่งพระจิตและจารีตพิธีเดียวกันและขอนำเสนอสู่ประชากรของพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง
สภาพระสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ยอมรับว่ากระบวนการฟื้นฟูความเป็นเอกภาพในหมู่คริสตชน “เกิดขึ้นโดยพระหรรษทานของพระจิต” (กฤษฎีกา Unitatis Redintegratio, ข้อ 1) สภาสังคายนายังสอนด้วยว่าพระจิตในขณะที่ “แจกจ่ายของขวัญฝ่ายจิตและพันธกิจต่างๆ” ยังเป็น “เสาหลักแห่งความเป็นเอกภาพของพระศาสนจักร” (ibid., ข้อ 2) ในสมณสาส์นเวียน “Ut Unum Sint” ยืนยันว่า “ความแตกต่างอันชอบธรรม ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความเป็นเอกภาพของพระศาสนจักร แต่อำนวยความสง่างาม และมีส่วนช่วยได้อย่างมากต่อความสำเร็จแห่งพันธกิจของพระศาสนจักร” (ข้อ 50) อันที่จริง “มีแต่เพียงพระจิตเท่านั้นที่สามารถจุดประกายความแตกต่าง การเพิ่มจำนวน และในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ… เป็นพระองค์เองที่นำความสมานฉันสู่พระศาสนจักร” เพราะดังที่นักบุญบาซิลกล่าว “พระองค์เองทรงเป็นความสมานฉัน” (Homily in the Catholic Cathedral of the Holy spirit, Istanbul, 29 November 2014)
ในโอกาสครบรอบปีนี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณพระเยซูคริสต์สำหรับการเดินทางที่พระองค์ทรงโปรดให้พวกเราก้าวเดินในฐานะที่เป็นคริสตชนที่แสวงหาความเอกภาพที่สมบูรณ์ ข้าพเจ้าเห็นใจกับบางคนที่อดทนไม่ไหว ซึ่งบางครั้งคิดว่าเราสามารถและสมควรที่จะทำอะไรให้มากกว่านั้น แต่ว่าพวกเราไม่ควรขาดความเชื่อและความกตัญญู พวกเราได้ดำเนินหลายขั้นตอนแล้วในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อการเยียวยาบาดแผลแห่งหลายศตวรรษและหลายพันปี ความรู้และความเข้าใจระหว่างกันและกันมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยให้เอาชนะต่อความลำเอียง ความมีอคติที่ฝังรากลึก มีการพัฒนาการเสวนาเชิงเทวศาสตร์ และการเสวนาในความรักรวมถึงรูปแบบต่างๆในความร่วมมือกันในการเสวนาแห่งชีวิตทั้งในระดับการอภิบาลและระดับวัฒนธรรม ขณะนี้ความคิดของข้าพเจ้าหวนกลับไปคิดถึงพี่น้องหลายคน บรรดาหัวหน้าผู้นำของศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ ชุมชนคริสตชน ตลอดจนบรรดาพี่น้องชายหญิงแห่งคริสต์ศาสนาทุกนิกาย ทุกแขนงองค์กร ซึ่งเป็นเพื่อนหรือกัลยาณมิตรร่วมเดินทางกับพวกเรา เฉกเช่นศิษย์แห่งหมู่บ้านเอมมาอุส ขอให้พวกเรามีประสบการณ์แห่งการประทับอยู่ของพระเยซูคริสต์ผู้เสด็จกลับฟื้นคืนพระชนม์ชีพ ซึ่งเดินเคียงข้างพวกเราและอธิบายพระคัมภีร์ให้พวกเราฟัง ขอให้พวกเราจดจำพระองค์ที่ทรงหักปังในขณะที่พวกเราเฝ้ารอคอยวันที่พวกเราจะมีส่วนแบ่งปันกันบนพระแท่นแห่งศีลมหาสนิทด้วยกัน
ข้าพเจ้าขอแสดงความกตัญญูต่อทุกคนอีกครั้งที่ได้ทำงาน และยังคงทำงานต่อไปในสมณสภาเพื่อส่งเสริมเอกภาพของบรรดาคริสตชน เพื่อดำรงไว้ซึ่งการรับรู้อย่างดีในเป้าหมายที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในพระศาสนจักร ข้าพเจ้ารู้สึกพอใจเป็นพิเศษที่รับรู้มาว่า ได้มีความคิดริเริ่มสองประการเมื่อเร็วๆนี้ ประการแรกคือคู่มือเพื่อการเดินทางแนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมคริสตศาสนสัมพันธ์ (Ecumenical Vademecum) สำหรับบรรดาบิชอป ผู้นำพระศาสนจักร ซึ่งจะมีการพิมพ์ในฤดูใบไม้ร่วงที่จะมาถึงนี้ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในความรับผิดชอบเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นเอกภาพ อันที่จริงการรับใช้ความเป็นเอกภาพเป็นมิติที่สำคัญยิ่งแห่งพันธกิจของบิชอปทุกองค์ซึ่งเป็น “เสาหลักที่มองเห็นได้และเป็นรากฐานแห่งความเป็นเอกภาพในพระศาสนจักรท้องถิ่นของตนเอง (Lumen Gentium, ข้อ 23; cf. CID มาตรา383 §3: CCEO มาตรา 902-908) ความคิดริเริ่มประการที่สอง คือการเริ่มนิตยสาร “Acta Ecumenica” (กิจการทางด้านคริสตศาสนสัมพันธ์) ซึ่งอาศัยการฟื้นฟูฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสมณสภาฯ ตั้งใจที่จะช่วยทุกคนที่ทำงานในการรับใช้เอกภาพ
ในเส้นทางที่นำไปสู่ความเป็นเอกภาพที่สมบูรณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจดจำใส่ใจถึงความก้าวหน้าที่ทำสำเร็จไปแล้ว แต่ที่สำคัญที่ไม่แพ้กันคือ การที่ต้องวิเคราะห์ไตร่ตรองขอบฟ้าใหม่ แล้วต้องถามคำถามพร้อมกับการรำพึงในสมณสาส์นเวียน “Ut Unum Sint” ว่า “Quanta est nobis via?” กล่าวคือ “พวกเราจะไปได้ไกลแค่ไหน” (ข้อ 77) แต่ที่แน่นอนอย่างหนึ่งคือเอกภาพมิใช่เป็นกิจกรรมหรือผลงานส่วนใหญ่ของพวกเรา แต่เป็นของขวัญจากพระจิต ทว่า “เอกภาพจะไม่เกิดขึ้นได้ในฐานะที่เป็นอัศจรรย์” ตรงกันข้าม เอกภาพจะเกิดขึ้นเพราะจากการเดินทางร่วมกัน พระจิตเจ้าทรงกระทำเช่นนี้ในระหว่างการเดินทาง” (Homily at the Celebration of Vespers, saint Paul Outside the Walls, 25 January 2014) ดังนั้นด้วยความมั่นใจขอให้พวกเราวอนขอพระจิตได้โปรดชี้นำการเดินทางของพวกเรา และทำให้ทุกคนสามารถได้ยินการร้องขอให้ทำงานเพื่อความเป็นเอกภาพด้วยความร้อนรนที่รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ขอพระจิตโปรดบันดาลใจพวกเราให้มีพลังใหม่ และสร้างความเข้มแข็งให้กับความรักฉันพี่นองในบรรดาศิษย์ของพระเยซูคริสต์ทุกคน “เพื่อว่าโลกจะได้เชื่อ” (ยน. 17: 21) และเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาในสรวงสวรรค์จะได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
จากนครรัฐวาติกัน วันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2020
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บสมณลิขิตของสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย FABC
- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- ประสบการณ์และความประทับใจในการเข้าร่วมเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติ..
- ธรรมนูญความเป็นเอกภาพของบิชอป (Episcopalis communio) ของพระสันตะปาปาฟรานซิสเกี่ยวกับซีนอดของคณะบิชอป
- การเป็นประจักษ์พยานถึงความสวยสดงดงามของพระเจ้าโอกาสครบรอบ 25 ปี
ของการประกาศสมณสาส์นเตือนใจ “ชีวิตผู้ถวายตัว”