สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
ในบทเทศน์ถึง “องค์กรการีตัส” สมเด็จพระสันตะปาปาทรงปฏิเสธ “วัฒนธรรมแห่งการเน้นเฉพาะประสิทธิภาพ และการชอบสร้างผลงาน” พร้อมกับเรียกร้องให้มีการปล่อยวางและมีความสุภาพที่จะรับฟังผู้อื่น
เมื่อถึงเวลาสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะปิดการอภิปรายเอกสาร ที่สำคัญ พระองค์มักจะตรัสถึงเนื้อหาและชี้แนวของเอกสารล่วงหน้าถึงข้อความต่างๆที่จะประกาศออกมา
พวกเรารับรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่แรก แม้จะเป็นการประเมินย้อนหลัง คือหลังจากที่พระสันตะปาปาให้สัมภาษณ์ครั้งแรกภายในไม่กี่เดือนหลังจากที่พระองค์ได้รับเลือกตั้งเป็น “บิชอปแห่งกรุงโรม” เป็นการสนทนากันหลายตอนกับเพื่อนสงฆ์เยซุอิตคือคุณพ่อ อันโตนิโอ สปาดาโร (Fr Antonio Spadaro SJ) หัวหน้าบรรณาธิการนิตยสาร “La Civita’ Cattolica” และนี่เป็นเสมือนระเบิดลูกใหญ่
พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอธิบายวิสัยทัศน์ของพระองค์ สำหรับพระศาสนจักร และตรัสเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นความสำคัญอันดับแรกๆในพันธกิจของพระองค์ เรื่องราวส่วนใหญ่ที่พระองค์ตรัสในการสนทนาเหล่านั้นกับ คุณพ่อสปาดาโร (Sparado) เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2013 และมีการกล่าวซ้ำอีกในคำปราศรัยหลายครั้งรวมถึงบทเทศน์ในสัปดาห์ต่อๆมา ในที่สุดลงเอยด้วยการตีพิมพ์อย่างเป็นระบบและเป็นทางการในสองสามเดือนต่อมา ในสมณสาส์นเตือนใจ “Evangelii Gaudium” เอกสารฉบับนี้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงถือว่าเป็นเอกสารที่มีความสำคัญมากที่สุดในสมณสมัยของพระองค์
เรื่องทำนองคล้ายกันเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเตรียมออกสมณสาส์นเวียน “Laudato Si’” ในช่วงสองสามสัปดาห์ก่อนเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2015 ก่อนที่จะออกหลักการและแนวปฏิบัติที่สำคัญนี้เกี่ยวกับความรับผิดชอบที่ต้อง “เอาใจใส่ดูแลบ้านส่วนรวมของพวกเรา” (ซึ่งเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า) สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเริ่มพูดเตือนใจซ้ำอีก เกี่ยวกับคำสอนและความตั้งใจของพระองค์ เพื่อกระตุ้นและผลักดันพวกเราจะได้อ่านอะไรกันบ้างในสมณสาส์น
การประเมินล่วงหน้าถึงการปฏิรูปโรมันคูเรีย
เมื่อเร็วๆนี้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงกล่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กร จึงทำให้พวกเราคิดไปว่าสิ่งที่พระองค์ตั้งใจที่จะทำอาจเป็นเรื่องที่เราจะพบได้ในการประกาศพระวรสารซึ่งเป็นธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปและการปรับโครงสร้างโรมันคูเรีย ร่างสุดท้ายของเอกสาร (นี่เป็นเอกสารร่าง) แต่บัดนี้มีความสมบูรณ์แล้ว สภาพระคาร์ดินัลที่ปรึกษาพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปาต้องใช้เวลากว่า 5 ปีในการศึกษาและไตร่ตรองเพื่อที่จะร่างเอกสารฉบับนี้ให้เสร็จ คณะที่ปรึกษาพระคาร์ดินัลมีทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ระดับสูงของโรมันคูเรียที่ร่วมในกระบวนการร่างโดยอาศัยการปรึกษาอย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลาเกือบ 6 ปี คนส่วนใหญ่คิดว่ากระบวนการคงจะจบแล้ว สิ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่คงจะให้นักกฎหมายพระศาสนจักรและบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิจะช่วยสร้างหลักประกันว่าทุกอย่างเรียบร้อยพร้อมสำหรับการลงนามประกาศใช้ธรรมนูญฉบับดังกล่าวของสมเด็จพระสันตะปาปา
แต่นั่นไม่ใช่แผนการของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระองค์ตัดสินพระทัยที่จะมอบเอกสารร่างนั้นไปให้บุคคลภายนอกนอกโรมันคูเรียและบุคคลต่างๆที่อยู่ห่างไกลจากกรุงโรม ซึ่งได้แก่สภาพระสังฆราชทั่วโลก หัวหน้าคณะนักบวชชายหญิง และนักเทวศาสตร์บางคนที่อยู่ตามมหาวิทยาลัยของพระศาสนจักร
แม้สมาชิกสองท่านแห่งสภาพระคาร์ดินัลที่ปรึกษาพิเศษ (Oscar Rodriguez Maradiaga และ Oswald Gracias) จะยืนยันว่าไม่ควรคาดหวังที่จะมีการแก้ไขใหญ่ใดๆจากร่างฉบับสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าไม่กล้าที่จะพนันแม้แต่สลึงเดียว การปฏิรูปคูเรียจะเป็นความใฝ่ฝันของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสและคงจะเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากที่สุด หากท่านเป็นพระสันตะปาปานักปฏิรูป ท่านจะยอมให้คนที่ชอบระบบเจ้าขุนมูลนายที่ท่านพยายามจะเปลี่ยนเป็นคนพูดคำสุดท้ายไหม? และหากท่านจะทำการเปลี่ยนสิ่งที่มีการถกเถียงกันซึ่งพระสันตะปาปาทรงต้องทำเช่นนั้น ท่านจะกล้าที่จะต่อต้านล้มการปฏิรูปนั้นหรือ?
พระสันตะปาปาพร้อมที่จะเทศน์เกี่ยวกับการประกาศพระวรสารแล้วหรือ?
พระสันตะปาปาผู้มีอายุ 82 พรรษาสามารถ (และคงจะ) ทำการปรับเปลี่ยนเนื้อหาต่อไปของการ ประกาศพระวรสาร โดยมีพื้นฐานจากข้อเสนอที่พระองค์ได้รับ (หรือคิดว่าได้รับ) จากผู้นำพระศาสนจักรนอกโรมันคูเรีย ซึ่งคงต้องใช้เวลาเล็กน้อยในการปรับเปลี่ยน ซึ่งแน่นอนว่านี่จะเป็นส่วนหนึ่งของข้อความสุดท้ายที่มีการเตรียมไว้แล้ว
นี่ะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สิ่งที่พิมพ์ออกมาแตกต่างไปจากเดิมและโดยวิธีใดวิธีหนึ่งแตกต่างไปจากฉบับร่างปัจจุบัน แม้ว่าพระคาร์ดินัลโรดิเกร็ซ (Rodroguez) ผู้แทนจากทวีปลาตินอเมริกา และพระคาร์ดินัลกราซีอาส (Gracias) ผู้แทนจากทวีปเอเซีย ได้กล่าวว่าท่านหวังว่าเอกสารร่างสุดท้ายคงจะพร้อมตีพิมพ์ภายในไม่เกินสิ้นเดือนมิถุนายน 2019 ก็ตาม แต่ว่าบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับกระบวนการร่างต่างยืนยันอย่างเงียบๆว่าคงจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นนักฟังที่ดี พระองค์ประสงค์ที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อน แม้จากบุคคลแลดูเล็กน้อยในสังคม
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเปลี่ยนโครงสร้างของโรมันคูเรียบางอย่างไปแล้วในช่วงของ 6 ปีผ่านมา เช่นพระองค์ทรงรวมสำนักงานบางแห่งของสะนตะสำนักเข้าไว้ด้วยกันและแทนที่จะตั้งเป็นสมณสภาฯ สมณกระทรวงฯ หรือคณะกรรมาธิการ พระองค์ทรงเรียกง่ายว่า “discastery” (ซึ่งเป็นภาษาของพระศาสนจักรที่แปลว่าสำนักงานแห่งสันตะสำนัก จากภาษาลาติน Dicasterium วึ่งหาคำแปลในภาษาไทยยากสักหน่อย) ดังนั้น อาจจะยกเลิกคำเดิม สมณกระทรวง และสมณสภาเก่าๆ พวกเราควรคาดหวังว่าแผนกทำงานของโรมันคูเรียต่างๆจะถูกเรียกว่า สำนักงานสันตะสำนักเพื่อ…..ภายใต้แผนการปฏิรูปใหม่
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสไม่ได้ชี้แนะแนวทางของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอื่นๆ แต่พระองค์ทรงตรัสมากมายเกี่ยวกับตัวอาคารสถานที่ ปรัชญา และเหตุผลเบื้องหลังการปฏิรูปของพระองค์ที่วางแผนไว้ พระคาร์ดินัลที่กล่าวถึงข้างต้นกล่าวว่าพวกท่านยังไม่ได้รับการปรึกษาหารือโดยตรงเรื่องการประกาศธรรมนูญปฏิรูปของสมเด็จพระสันตะปาปา
แต่ในสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาสมเด็จพระสันตะปาปาฟราสซิสในคำปราศรัยที่สำคัญๆทรงเอ่ยถึงบางประเด็นของเอกสารดังกล่าว ครั้งหนึ่งในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 เมื่อพระองค์ปราศรัยกับที่ประชุมของสังฆมณฑลแห่งกรุงโรม ณ มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน
ในการปราศรัยเกี่ยวกับการฟื้นฟูและการปฏิรูปพระองค์ทรงประณามสิ่งที่เรียกกันว่า “เผด็จการแห่งการทำงาน” และพวกที่มีแนวโน้มต้องการ “กำหนดตายตัว ยึดติดกับกฏเกินไปแบบยืดหยุ่นไม่ได้” สิ่งต่างๆพร้อมกับทำทุกสิ่งใหญ่จนเกินเหตุ กระทั่งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตำหนิสังฆมณฑลหนึ่งที่ไม่เอ่ยชื่อในประเทศอิตาลี ที่ได้กระทำเช่นที่ว่ามานี้
หัวใจการประกาศพระวรสาร “ความรักเมตตาในทุกสิ่ง”
พระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา ณ มหาวิหารลาเตรันดูเหมือนจะทำให้ผู้อ่านบางคนสับสน มีคนหนึ่งเขียนมาว่า “กระผมต้องการคำอธิบายถึงสิ่งที่บิชอปแห่งกรุงโรมกล่าวเกี่ยวกับกำหนดสิ่งตายตัว พระองค์หมายถึงไม่ให้ทำตามสิ่งที่เคยทำหรือ? คงไม่ใช่แน่นอน แต่ว่าพระองค์หมายถึงอะไร?”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสคงได้ยินได้ฟังคำวิพากวิจารณ์ทำนองเดียวกัน เพราะว่าเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2019 พระองค์ยังคงตรัสเกี่ยวกับการปฏิรูปในบทเทศน์ในพิธีบูชามิสซาขอบพระคุณเปิดการประชุมใหญ่สามัญของการีตัสสากล
พระองค์ทรงเตือนใจขอให้ระวัง “การล่อลวงของลัทธิที่เน้นความเป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพ ลัทธิที่ชอบสร้างผลงาน” ซึ่งพระองค์อธิบายว่าเป็นทุกอย่างจะต้องดีหมด สมบูรณ์แบบที่สุด ถ้าพระศาสนจักร “มีทุกสิ่งภายใต้การควบคุมอย่างเป็นระบบ” และไม่มีการหยุดชะงัก “วาระจะเรียบร้อยเสมอ” และ “ทุกสิ่งถูกควบคุมไว้ทั้งหมด” ในพระศาสนจักรมีบุคคลประเภทนี้จริงๆ คือการเน้นผลงานที่เป็นระบบจนลืมคุณค่าอื่นที่สำคัญกว่า
แต่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า พระเจ้าไม่ได้ทรงกระทำการเช่นนี้ ตรงกันข้าม พระองค์ทรงส่งพระจิตลงมา และแทนที่การกระทำไปตาม “วาระประจำวัน” ที่บางคนคิดว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ พระจิต “ทรงเสด็จมาพร้อมกับเปลวไฟ”
“พระเยซูคริสต์ไม่ทรงต้องการให้พระศาสนจักรเป็นแบบฉบับเล็กๆที่ครบครันที่พอใจกับการที่ตนจัดการองค์กรของตนอย่างไร และสามารถที่จะปกป้องชื่อเสียงของตน” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสกล่าว
จากนั้นพระองค์ทรงย้ำสิ่งที่พระองค์ตรัสที่ลาเตรันโดยกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้พระองค์ต้องทรมานที่เห็นหลายสังฆมณฑล “ที่เหน็ดเหนื่อยโดยอาศัยองค์กรและการวางแผนด้วยการพยายามที่จะทำให้ทุกสิ่งมีความชัดเจน” พร้อมกับเอาใจใส่ดูแล
สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสว่าชีวิตของพระเยซูคริสต์มิได้เป็นเช่นนั้น นี่เป็นการเดินทางที่ไม่กลัวต่อการขัดจังหวะแห่งชีวิต และพระวรสารของพระองค์คือโครงการของพระศาสนจักร “นี่สอนพวกเราว่าปัญหาไม่ได้ถูกจัดการด้วยคำตอบสำเร็จรูปและความเชื่อไม่ใช่หมายกำหนดการณ์แต่เป็น ‘หนทาง’ (กจ. 9: 2) ที่พวกเราจะต้องเดินตามไปด้วยกันด้วยเจตนารมณ์แห่งความไว้วางใจ” พระองค์ตรัส
ความกล้าหาญที่จะปล่อยวาง... แม้ขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมๆ
สมเด็จพระสันตะปาปาเทศน์ตามข้อความในหนังสือกิจการอัครสาวกตอนที่อัครสาวกทำการตัดสินใจที่เจ็บปวดไม่บังคับให้ต้องปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของชาวยิวที่มีมาช้านานเกี่ยวกับการกลับใจจากศาสนาอื่นๆ
พระองค์ตรัสว่าต้องใช้ความกล้าในการปล่อยวางบางสิ่งของ “ประเพณีและกฎทางศาสนาที่มีความสำคัญ” โดยกล่าวเพิ่มเติมว่านี่เป็นการเคี่ยวเข็น บังคับคนอื่น “อัตลักษณ์ทางศาสนา” ของคริสตชนชาวยิว ตรงกันข้าอัครสาวกไตร่ตรองว่า “การประกาศพระเยซูคริสต์ต้องมาก่อนอื่นใด และมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดๆ” รวมถึง “ความเชื่อและขนบธรรมเนียมเหล่านั้นเป็นอุปสรรคมากกว่าที่จะเป็นการช่วยเหลือ”
นี่เป็นความคิดที่ใครบางคนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเมื่อพระสันตะปาปาตัดสินใจว่า ความเชื่อ และธรรมเนียมบางอย่างที่เป็นส่วนหนึ่งของโรมันคูเรียมาเป็นเวลาช้านานไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไปแล้วสำหรับพันธกิจของพระศาสนจักร
พวกเขายังจะต้องไตร่ตรองในอีกหลายสิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาเทศน์ให้กับสมาชิกของ “การีตัสสากล” เช่น “พระเจ้าชำระล้าง ทำให้เป็นของง่าย และบ่อยครั้งทำให้พวกเราเจริญเติบโตด้วยการตัดออกไปแทนที่จะเพิ่มเข้ามา… ในการติดตามพระเยซูคริสตเจ้าจำเป็นต้องเดินให้เร็ว และเพื่อที่จะเดินเร็วจำเป็นต้องทำตัวให้เบาถึงแม้ว่าจะต้องเสียเงินเสียทองไปบ้าง… ในการปฏิรูปตัวเราเอง พวกเราต้องหลีกเลี่ยงการตบแต่งหน้าต่าง กล่าวคือแกล้งทำเป็นเปลี่ยนบางสิ่งในขณะที่ไม่มีการเปลี่ยนอะไรเลย…”
การประกาศข่าวดีต้องมีความสุภาพที่จะรับฟัง
ผู้ที่ทำงาน เจ้าหน้าที่คูเรียที่เป็นเจ้าขุนมูลนายที่ส่วนกลางของพระศาสนจักรก็จะต้องคิดถึงคำพูดของพระสันตะปาปาเช่นเดียวกันเกี่ยวกับฟังด้วยความสุภาพต่อเสียงของคนอื่นในกรุงโรมที่ตามธรรมเนียมถือว่ามีอำนาจน้อยกว่าหรือมีตำแหน่งที่ไม่สำคัญ
“ความสุภาพจะเกิดขึ้นตอนที่แทนที่จะพูดกลับกลายเป็นคนฟังเมื่อคนเราเลิกที่จะยึดตนเป็นศูนย์กลาง แล้วเขาจะค่อยๆเจริญขึ้นในความสุภาพ นี่เป็นหนทางแห่งการรับใช้ที่สุภาพซึ่งพระเยซูคริสต์นำมาใช้” พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัส
“นี่เป็นสิ่งสำคัญเสมอที่ต้องฟังเสียงของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงของเด็กและผู้ต่ำต้อย ในโลกคนที่มีมากกว่าจะเป็นคนที่พูดมากกว่า แต่สำหรับพวกเราต้องไม่เป็นเช่นนั้น” พระสันตะปาปาทรงเตือนใจ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นถ้อยคำในสมณธรรมนูญฉบับใหม่ ชื่อ “Praedicate Evangelium – พวกท่านจงประกาศพระวรสาร” (ผมกำลังพยายามถอดเนื้อหาธรรมนูญใหม่เป็นภาษาไทย ซึ่งยาวพอสมควร)
“พระเจ้ารักที่จะแสดงพระองค์อาศัยเด็กและผู้ที่ต่ำต้อยที่สุด และพระองค์ทรงขอร้องไม่ให้ผู้ใดสบประมาทผู้อื่น”
“จากความสุภาพในการฟังจนถึงความกล้าปฏิเสธตนเอง ทุกอย่างจะผ่านไปโดยอาศัยพระพรพิเศษของทุกคน ความจริงแล้วในการอภิปรายของพระศาสนจักรยุคแรกๆเอกภาพจะอยู่เหนือความแตกต่างเสมอ”
สาส์นของพระองค์ในที่นี้คือมีที่แน่นอนสำหรับวิธีทำสิ่งต่างๆที่กลุ่มหนึ่งหรือสถานที่หนึ่ง (รวมทั้งวาติกันด้วย) ไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งและทุกคนได้
พระองค์ตรัสว่า “ความรักเมตตาไม่ได้สร้างทุกคนให้เหมือนกัน แต่สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน” และ “พระเยซูคริสต์ทรงขอร้องให้เราอยู่ในพระองค์ ไม่ใช่อยู่ในความคิดของพวกเรา ให้พวกเราออกจากการเสแสร้งว่าพวกเราสามารถควบคุมและบริหารจัดการ พวกเราวางแผนเก่ง ควบคุมทุกอย่างได้”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสย้ำว่าผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ต้องไม่กลัวการหยุดชะงัก พระองค์ใช้คำภาษาอิตาเลียนว่า “scosse – สกอสเซ” ซึ่งยังหมายถึง “อาการช๊อค ตกตะลึง สั่นสะเทือน หรือกระแทก” สิ่งต่างๆเหล่านี้คือสิ่งที่พระองค์ตรัสในสองสามสัปดาห์ที่แล้วซึ่งที่จริงตลอดสมณสมัยของพระองค์ก็ว่าได้ นี่สามารถเป็นสาส์นสำคัญสำหรับบางคนที่กำลังแอบคิดว่าการปฏิรูปโรมันคูเรียและปฏิรูปพระศาสนจักรครั้งใหม่นี้จะเป็นเพียงแค่การแต่งหน้าแต่งตาเท่านั้นคงไม่มีอะไรใหม่ แต่ว่าขอให้ทุกคนในพระศาสนจักรควรฟังด้วยความตั้งใจให้มากกว่านี้สักหน่อย และพร้อมที่จะเผชิญกับการตกตะลึง “scosse” การเปลี่ยนแปลงในพระศาสนจักรที่ตนอาจไม่คาดคิด
วันที่ 24 พฤษภาคม 2019
Cr. บทความนี้โดย Robert Mickens, Rome
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทความนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงยืนยันว่า
เลบานอนคือประเทศต่อไปที่พระองค์จะเสด็จไปเยือน - 2021 กับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส: การเดินทาง การปฏิรูป และการท้าทายของโควิด
- ธรรมนูญความเป็นเอกภาพของบิชอป (Episcopalis communio) ของพระสันตะปาปาฟรานซิสเกี่ยวกับซีนอดของคณะบิชอป
- คำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พิธีรำลึกครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาสถาบันแห่งซีน็อดของบรรดาบิชอป
- ร่วมประชุมบิชอปเพื่อนคณะโฟโคลาเร