วจนพิธีกรรมเปิด "สัปดาห์เลาดาโต ซี" 16 พฤษภาคม 2020
ประมวลภาพถ่าย วจนพิธีกรรมเปิดสัปดาห์เลาดาโตซี (16-24 พฤษภาคม 2020) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2020 เวลาประมาณ 09.50 น. โดยพระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นประธานในพิธี ร่วมกับซิสเตอร์และบาดหลวง เจ้าหน้าที่ สัตบุรุษในศูนย์มิสซังฯ และโรงเรียนพระหฤทัย เชียงใหม่ และเวลาประมาณบ่ายโมง ก็ร่วมกิจกรรม ปลูกต้นไม้ ต้นกล้วย ที่ดอยหล่อ เชียงใหม่
รณรงค์ 5 ปี Laudato Si มิสซังเชียงใหม่
โลก บ้านส่วนรวมของเรา ที่ทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกัน เปรียบเสมือนพี่สาวที่ร่วมชีวิต และมารดาที่สวยงาม ที่อ้าแขนโอบกอดเราไว้
เราหายใจรับเอาอากาศของโลก รับชีวิตความสดชื่นจากสายน้ำ และจากพื้นผิวของโลก เราต้องการให้โลกเป็นอย่างไร เพื่อมอบให้กับผู้ที่มาภายหลังเรา คือลูกหลานที่บัดนี้กำลังเติบโตขึ้น
การเนรมิตสร้างจิตสำนึกแห่งจักรวาล ความกลมกลืนของสิ่งสร้าง ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และจุดหมายร่วมกัน
ในพระคัมภีร์กล่าวถึงพระเจ้า ที่ทรงปลดปล่อย และทรงช่วยให้รอด เป็นพระเจ้าองค์เดียวกัน ที่ทรงเนรมิตสร้างจักรวาล และการกระทำเหล่านี้ของพระเป็นเจ้า เป็นการเชื่อมโยงอย่างสนิทและไม่อาจแยกกันได้
มนุษย์ไม่ใช่เป็นนายของจักรวาล ทุกการกระทำที่โหดร้ายที่มีต่อสิ่งสร้าง เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ พระบิดาเจ้าทรงเรียกร้องความเป็นหนึ่งเดียวกันของจักรวาล โดยเราทุกคนถูกเชื่อมโยงด้วยพันธะความรักของครอบครัวโลกด้วยกัน เป็นความสัมพันธ์รักที่สัมผัสได้ ที่มีต่อโลก
โลกถูกทำลาย และถูกละเมิด มีเสียงร้องของแผ่นดิน และเสียงคร่ำครวญของคนจน สภาพอากาศและภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อทุกมุมโลก
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงออกสมณสาส์นเลาดาโต ซี เมื่อปีคริสตศักราช 2015 เพื่อรณรงค์ช่วยกันดูแลรักษาโลก บ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน ที่กำลังวิกฤตสิ่งแวดล้อม
พระองค์ทรงขอร้องให้เราใส่ใจดูแลและร่วมกันแก้ไข มิสซังเชียงใหม่ได้ตระหนักถึงเจตนารมณ์นี้ และได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยความร่วมมือกันกับชุมชนต่างๆ โดยจัดการศึกษาอบรมสร้างความสำนึกความเข้าใจ
สมณสาส์นเลาดาโต ซี ที่พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงชี้ให้เห็นวิกฤตที่เกิดขึ้น และการใส่ใจดูแลบ้านเรือนส่วนรวมของเรา แก่กลุ่มหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกสังฆมณฑล ได้แก่ จัดกิจกรรมอบรมเด็กและเยาวชนตามศูนย์คาทอลิก และจัดค่ายคำสอนฤดูร้อนตามเขตวัดต่างๆ จัดอบรมผู้นำคริสตชนครูคำสอนและกลุ่มต่างๆ ในชุมชนหมู่บ้านให้ตระหนักและช่วยกันรับผิดชอบดูแลดินน้ำป่า และสรรพสัตว์ต่างๆ ให้ยั่งยืนต่อไป
มีการจัดพิธีบวชป่า เสกป่า ตลอดจนการเสกพื้นที่ทำกินเป็นการคืนความศักดิ์สิทธิ์ให้กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมและความเชื่อของชุมชน ร่วมกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ทำพิธีเลี้ยงป่าต้นน้ำ ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด
ปลูกป่าต้นน้ำเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำการรณรงค์การจัดการขยะตามชุมชนต่างๆ เช่น ที่บ้านหนองเต่า บ้านแม่ลิด และที่อื่นๆ ซึ่งขยะเหล่านี้เกิดจากรูปแบบการดำรงชีวิต “แบบกินทิ้งกินขว้าง”
ฝ่ายสังคมและศูนย์วิจัยฝึกอบรมวัฒนธรรมชุมชน ได้มีการวิจัยและฝึกอบรมเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้นำชุมชนสู่การปฏิบัติตามหมู่บ้านต่างๆ และรื้อฟื้นวิถีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงบนฐานเกษตรครัวเรือน เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางอาหารให้กับชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนชาติพันธ์ุ รณรงค์ฟื้นฟูการรักษาเมล็ดพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้กลับคืนมา ช่วยกันดูแลไฟป่าด้วยการทำแนวกันไฟที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชน
ทุกปีชาวบ้านจะช่วยกันทำหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน การจัดเวรเฝ้าระวังไฟป่าและช่วยกันดับไฟเมื่อเกิดไฟป่าในพื้นที่ต่างๆ กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ที่ชุมชนร่วมกันทำเป็นการปฏิบัติเลาดาโต ซี ในชีวิตของชุมชน การจัดสัมมนาเลาดาโต ซี ระดับมิสซังเพื่อให้หน่วยงานองค์กรและแผนกต่างๆ ของมิสซังเชียงใหม่ ได้นำไปศึกษาอบรมให้กับกลุ่มที่อยู่ภายใต้ในความรับผิดชอบต่อไป
ตลอดเวลาที่ผ่านมาทุกเขตวัดทุกหน่วยงานองค์กรและแผนกต่างๆได้ทำอยู่ซึ่งต้องขยายให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ทางมิสซังเชียงใหม่ได้รวบรวมและจัดทำสื่อเผยแพร่เพื่อขยายแนวคิดและแนวปฏิบัติสู่เครือข่ายหน่วยงานองค์กรต่างๆทั้งในและนอกชุมชน เพื่อความร่วมมือกันทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป