Skip to content

บทเทศน์วันพุธที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2020

ระลึกถึงนักบุญคัทเธรีนแห่งซีอานา พรหมจารีและนักปราชญ์ของพระศาสนจักร

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสวิงวอน “ความเป็นเอกภาพของยุโรป”

วันระลึกถึงนักบุญคัทเธรินแห่งซีอานา นักปราชญ์ของพระศาสนจักร และองค์อุปถัมภ์ของทวีปยุโรปสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงไตร่ตรองเกี่ยวกับทวีปยุโรปเฉกเช่นที่พระองค์ทรงเคยกระทำในโอกาสที่มีการระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา

        ในมิสซาที่พระองค์ถวายณ วัดน้อยภายในสถานพำนักซางตา มาร์ธา นครรัฐวาติกัน เมื่อเช้าวันพุธที่ 29 เมษายน 2020 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแสดงความปรารถนาของพระองค์อยากให้ “พวกเราภาวนาสำหรับทวีปยุโรป สำหรับความเป็นเอกภาพของยุโรป สำหรับความเป็นเอกภาพของบสหภาพยุโรป เพื่อที่พวกเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันในฐานะที่เป็นพี่น้องกัน”

        ในบทเทศน์พระองค์ทรงไตร่ตรองถึงบทอ่านที่หนึ่งจากจดหมายโดยนักบุญยอห์น (1 ยน. 1: 5 – 2, 2) ซึ่งอัครสาวกยืนยันว่าพระเจ้าคือแสงสว่างและหากว่า พวกเราพูดว่า เราเป็นหนึ่งกันกับพระองค์ พวกเราก็เป็นหนึ่งเดียวกันในหมู่พวกเราด้วย พระโลหิตของพระเยซูคริสต์ทรงชำระล้างเราทุกคนทุกคนจากบาปทั้งปวง

        “แต่ใครที่พูดว่าตนไม่มีบาปก็หลอกตนเอง หากเขาสารภาพบาปของเขา พระเจ้าก็จะทรงให้อภัยเขา และจะทรงชำระล้างเขาให้พ้นจากราคีทั้งปวง” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสพร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าอัครสาวก  “เรียกร้องความเป็นรูปธรรมและความจริง ท่านกล่าวว่าพวกเราไม่สามารถเดินในแสงสว่างและในความมืดในเวลาเดียวกันได้”

        ในการติดตามคำสอนของพระวรสารของวันนี้โดยนักบุญมัทธิว (มธ. 11: 25-30) ซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงสรรเสริญพระบิดาเจ้า เพราะพระองค์ทรงซ่อนพระวรสารจากคนฉลาดและทรงเผยความเข้าใจให้กับผู้ต่ำต้อย พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า “คนต่ำต้อยสารภาพบาปของตนแบบซื่อๆ พวกเขาพูดสิ่งที่เป็นรูปธรรมเพราะพวกเขามีความซื่อตรงในชีวิตที่พระเจ้าทรงประทานให้” เพราะฉะนั้น “พวกเราต้องเป็นคนซื่อตรงและมีความเป็นรูปธรรมด้วยพร้อมกับสารภาพบาปของพวกเราด้วยความสุภาพที่เป็นรูปธรรมและมีความละอายใจต่อบาปที่ได้กระทำ เพื่อที่พระเจ้าจะทรงอภัยให้พวกเรา ขณะที่พวกเราต้องสารภาพบาปทุกประการ”

บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (ฉบับเต็ม)

ในจดหมายฉบับแรกของอัครสาวยกยอห์นมีสิ่งตรงกันข้ามหลายอย่างระหว่างแสงสว่างกับความมืด ระหว่างการโกหกและความจริง ระหว่างบาปและความบริสุทธิ์ (เทียบ 1 ยน. 1: 5-7) แต่อัครสาวกเรียกร้องให้ชีวิตต้องมีความเป็นรูปธรรมและความจริงเสมอ ท่านกล่าวกับพวกเราว่า เราไม่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสต์แล้วเดินในความมืด เพราะว่าพระองค์คือแสงสว่าง เราต้องเลือกข้างหนึ่งข้างใด เลือกสีเทาๆนั้นอันตราย หรือร้ายกว่านั้นเพราะสีเทาทำให้ท่านเชื่อว่าท่านเดินอยู่ในแสงสว่าง เพราะอาจเชื่อว่าท่านไม่ได้อยู่ในความมืดจึงทำให้ท่านใจเย็น ดังนั้นสีเทานั้นอันตรายมาก ท่านต้องเลือกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ใช่พวกครึ่งๆกลางๆ

        อัครสาวกยอห์นเล่าต่อไปว่า “ถ้าเราพูดว่าเราไม่มีบาป เราก็หลอกตัวเอง และเราก็จะไม่มีความจริง” (1 ยน. 1: 8) เพราะว่า “พวกเราทุกคนมีบาป” เฉกเช่นคนที่พูดว่า “สวัสดียามเช้า” “สวัสดียามเที่ยง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันจนเป็นนิสัยในสังคม เราไม่ได้รับรู้อย่างแท้จริงถึงบาป ต้องไม่พูดว่าฉันเป็นคนบาปเพราะนี่ นี่ นี่ แบบจินตนาการ – แต่ต้องเป็นรูปธรรม รูปธรรมแห่งความจริง ความจริงย่อมเป็นรูปธรรมเสมอ ความเท็จไม่มีตัวตน ความเท็จเป็นเหมือนกับอากาศ ท่านจับต้องไม่ได้ ความจริงเป็นรูปธรรม และท่านไม่สามารถที่จะไปสารภาพบาปของท่านแบบนามธรรมได้ “ใช่ครับ/ค่ะ ครั้งหนึ่งฉันเสียความเพียร อีกครั้งหนึ่ง…  ฉันเป็นคนบาป  ต้องเป็นรูปธรรม ฉันได้กระทำสิ่งนี้ ฉันได้คิดอย่างนี้ ฉันได้พูดอย่างนี้” ความเป็นรูปธรรมทำให้ฉันจริงจังกับตัวเองว่าฉันเป็นคนบาปจริงๆ  ซึ่งไม่ใช่ “คนบาปในอากาศ”

        พระเยซูคริสต์ตรัสในพระวรสารว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ที่พระองค์ทีทรงปิดบังเรื่องเหล่านี้จากผู้ปรีชาและรอบรู้ แต่ทรงเปิดเผยแก่บรรดาผู้ต่ำต้อย” (มธ. 11: 25) – นี่คือรูปธรรมของผู้ต่ำต้อย อันเป็นเรื่องน่ารักที่ฟังคนต่ำต้อย เมื่อพวกเขาไปสารภาพบาป พวกเขาไม่ได้สิ่งที่แปลกหู สิ่งที่ “อยู่ในอากาศ” พวกเขาพูดสิ่งที่เป็นรูปธรรม และบางครั้งก็เป็นรูปธรรมจนเกินไปเพราะพวกเขามีความซื่อตรงที่พระเจ้าประทานให้คนที่ต่ำต้อย   พ่อจำได้ดีถึงเด็กชายคนหนึ่งที่ครั้งหนึ่งมาบอกพ่อว่า เขารู้สึกเสียใจเพราะเขาได้ทะเลาะกับป้าของเขา… แล้วเขาก็พูดต่อไป… พ่อจึงถามเขาว่า “แต่ว่าเธอได้ทำอะไรไป?” “คือผมอยู่ที่บ้านครับ ผมอยากออกไปเตะฟุตบอล คุณแม่ของผมไม่อยู่ คุณป้าของผมบอกว่า “ไม่ได้ แกจะไปเล่นไม่ได้ แกจะต้องทำงานของแกให้เสร็จก่อน”  “แล้วคำพูดไม่ดีคำหนึ่งก็หลุดจากปากของผมไป ในที่สุดผมก็ส่งคุณป้านั้นไปยังชนบท” เขาเป็นเด็กที่รู้เรื่องดีด้านภูมิศาสตร์… เขายังบอกชื่อชนบทที่เขาส่งป้าของเขาไปด้วยซ้ำ บุคคลต่างๆก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ ซื่อตรงและเป็นรูปธรรม

        พวกเราก็ต้องเป็นคนซื่อตรงและมีความเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกัน  ความเป็นรูปธรรมจะนำท่านไปสู่ความสุภาพเพราะว่าความสุภาพเป็นรูปธรรม “เราทุกคนเป็นคนบาป” ประโยคนี้เป็นนามธรรม ไม่นะ ฉันไม่ได้เป็นคนบาปเพราะนี่ นี่ แล้วก็นี่”  แล้วนี่จะทำให้พวกเราต้องอับอายในการมองไปที่พระเยซูคริสต์  ”โปรดให้อภัยลูกด้วย” นี่คือทัศนคติที่แท้จริงของคนบาป “ถ้าเราพูดว่าเราไม่มีบาป เราก็หลอกตัวเราเอง และเราก็จะไม่มีความจริงอยู่ในตัวเรา” (1 ยน. 1: 8) ทัศนติที่เป็นนามธรรมนี้เป็นหนทางในการพูดว่า เราเป็นคนที่ปราศจากบาป “ใช่ เราเป็นคนบาป ใช่ ครั้งหนึ่งฉันเคยหมดความเพียร…. “ แต่ “ทุกสิ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในอากาศ” ฉันไม่รับรู้ถึงความจริงแห่งบาปของฉัน “แต่ท่านทราบไหมว่า เราทุกคนล้วนแต่ทำสิ่งนี้ ฉันเสียใจ ฉันเสียใจ… บาปทำให้ฉันเจ็บปวด ฉันจะไม่มีวันที่จะทำอีก ฉันไม่อยากพูดอะไรอีกแล้ว  ฉันไม่อยากที่จะคิดถึงเรื่องบาปอีกต่อไป”  นี่เป็นประเด็นสำคัญที่พวกเราต้องบอกชื่อบาปที่มีอยู่ในตัวเราให้หมด  พวกเราต้องเป็นรูปธรรม เพราะหากพวกเรา “ทำตัวอยู่กลางอากาศแบบลอยๆ” พวกเราจะลงเอยด้วยการอยู่ในความมืด ขอให้พวกเราเป็นคนต่ำต้อย พูดสิ่งที่เรารู้สึกอย่างแท้จริง  พวกเราคิดและพูดตรงกัน ขอให้เราเรียนรู้ที่จะพูดความจริง ทำสิ่งที่คลุมเครือหรือปิดบังเอาไว้ให้กระจ่างเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ ทำให้สิ่งที่ซ่อนเร้นออกจากด้วยความจริง  นี่เป็นศิลปะแห่งการเจริญเติบโตในชีวิตฝ่ายจิต ซึ่งการปิดบังแบบเทาๆไม่มีประโยชน์อันใดสำหรับพวกเราเลย คือชีวิตไม่ชัดเจน

        เมื่อวานนี้พ่อได้รับจดหมายจากเด็กชายคนหนึ่งแห่งเมืองคาราวัคจิโอ (Caravaggio) เด็กชายคนนี้ชื่ออันเดรอา เขาเล่าเรื่องของเขา พ่อเห็นจดหมายของพวกเด็กๆนั้นงดงามมาก เพราะความเป็นรูปธรรมในตัวเอง เขาบอกพ่อว่าเขาฟังมิสซาทางโทรทัศน์และเขาต้อง “ตำหนิ” พ่ออะไรบางอย่าง เพราะการที่พ่อกล่าวในมิสซาว่า “สันติสุขจงมีอยู่กับท่าน”  “และพวกเราไม่สามารถกล่าวเช่นนี้ได้ เพราะว่าเมื่อเกิดโรคระบาดพวกเราไม่อาจสัมผัสกันได้ เด็กชายอันเดรอาเห็นว่าสัตบุรุษอยู่ในวัดน้อยต่างก้มศีรษะและไม่มีการสัมผัสกัน  เขามีเสรีภาพที่จะพูดในสิ่งที่เขาเห็น

        พวกเราต้องมีเสรีภาพที่จะกล่าวกับพระเยซูคริสต์ในสิ่งที่เป็นอยู่จริง “ข้าแต่พระเยซูคริสต์ ลูกมีบาป โปรดช่วยลูกด้วย”  เฉกเช่นเปโตรกหลังจากที่จับปลาครั้งแรกได้จำนวนมากกล่าวว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า โปรดเสด็จไปจากข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ลก. 5: 8) พวกเราต้องมีปรีชาญาณแห่งความเป็นรูปธรรมเพราะว่าปิศาจมันต้องการให้พวกเราเป็นคนครึ่งๆกลางๆแค่อุ่นๆไม่ร้อนไม่หนาว อยู่ในสีเทา คือไม่ดีแต่ก็ไม่ชั่ว ไม่ขาวแต่ก็ไม่ถึงกับดำ เป็นแค่เทาๆ คือคนประเภทความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ ซึ่งเป็นชีวิตที่ไม่สบพระทัยของพระเจ้า พระเจ้าไม่ชอบคนที่ไม่รู้จักร้อนไม่รู้จักหนาว ดังนั้นพวกเราต้องเป็นคนที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่คนมุสา “ถ้าพวกเราสารภาพบาปของเราอย่างซื่อตรง พระองค์ทรงซื่อสัตย์และยุติธรรม พระองค์จะทรงอภัยโทษให้พวกเราเสมอ (ยน. 1: 9)   พระองค์ทรงอภัยให้พวกเราเมื่อพวกเรามีความเป็นรูปธรรม ชีวิตฝ่ายจิตของพวกเราต้องซื่อตรงเรียบง่าย แต่พวกเรามักจะทำให้เรื่องราวยุ่งยากซับซ้อนด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องแบบไร้สาระจนในที่สุดพวกเราก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย…

        ขอให้เราวอนขอพระหรรษทานแห่งความซื่อตรงเรียบง่ายจากพระเยซูคริสต์  ขอให้พระองค์ประทานพระหรรษทานที่พระองค์ทรงมอบให้กับคนต่ำต้อย เด็ก เยาวชนที่พูดในสิ่งที่พวกเขารู้สึก ซึ่งไม่ปิดบังสิ่งที่พวกเขารู้สึก แม้จะมีอะไรบางสิ่งที่ผิดพลาดพวกเขาก็พูดออกมาอย่างซื่อตรง ไม่ซับซ้อน  ขอให้พวกเราพูดกับพระองค์ด้วยความโปร่งใสและให้ดำเนินชีวิตไม่ใช่แบบนี้แบบนั้น ขอให้พวกเราวอนขอพระหรรษทานแห่งเสรีภาพที่จะพูดสิ่งเหล่านี้ และวอนขอพระหรรษทานที่จะรับรู้อย่างแท้จริงว่าตัวตนของเราเป็นใครในสายพระเนตรของพระเจ้า

        สมเด็จพระสันตะปาปาทรงจบพิธีด้วยการอวยพรศีลมหาสนิทพร้อมกับเชิญบรรดาสัตบุรุษให้ร่วมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน

        ข้าแต่พระเยซูคริสต์ ลูกขอกราบลง ณ แทบพระบาทของพระองค์ ลูกขอมอบการเป็นทุกข์ถึงบาปจากใจจริงของลูก ดวงใจที่มัวแต่สาละวนอยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นเรื่องอันไร้สาระต่อหน้าพระพักตร์พระองค์  ลูกขอกราบนมัสการพระองค์ในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรักของพระองค์ ในขณะที่กำลังรอที่จะรับความสุขแห่งศีลมหาสนิท ลูกปรารถนาที่จะรับพระองค์ทางจิตวิญญาณ  ข้าแต่พระเยซูคริสต์ โปรดเสด็จมายังลูกเพื่อลูกจะได้เข้าไปหาพระองค์  ขอให้ความรักของพระองค์จงเผาตัวลูกทั้งในชีวิตและในความตาย ลูกเชื่อในพระองค์ ลูกไว้ใจในพระองค์ ลูกรักพระองค์ อาแมน

Regina caeli laetare, alleluia.

Quia quem meruisti portare, alleluia.

Resurrexit, sicut dixit, alleluia.

Ora pro nobis Deum, alleluia.

(Christ, whom you bore in your womb, alleluia,

Has risen, as He promised, alleluia.

Pray for us to the Lord, alleluia).

(ราชินีสวรรค์ จงชื่นชมยินดีเถิด อัลเลลูยา

เพราะพระองค์ที่พระแม่อุ้มไว้ในครรภ์ อัลเลลูยา

ได้ทรงกลับเป็นขึ้นมาตามที่ได้ทรงสัญญาไว้ อัลเลลูยา

โปรดภาวนาต่อพระองค์เพื่อลูกด้วยเทอญ อัลเลลูยา)

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทเทศน์นี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)