บทเทศน์วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 2020
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอธิษฐานภาวนาสำหรับครอบครัวที่ถูกกักตัว
อยู่แต่ภายในบ้าน และทรงรำพันถึงการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
ในระหว่างพิธีบูชามิสซาสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเตือนใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์สำหรับพวกเราทุกคน ไม่เว้นผู้ใดเลย!
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอธิษฐานภาวนาเป็นพิเศษสำหรับครอบครัวที่จำเป็นต้องกักกันตนเองอยู่แต่ในครอบครัว และสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อโรคโคโรนาไวรัส
สมเด็จพระสันตะปาปาเริ่มพิธีมิสซาในขณะที่รำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของไวรัสโคโรนา พระองค์ทรงรับรู้ว่าในยุคนี้สมาชิกในครอบครัวต้องทำสิ่งที่ตนไม่เคยทำมาก่อนในอดีต นอกนั้นพระองค์ยังทรงรำพันถึงการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวต่างๆ
“ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนา” พระองค์ตรัส “สำหรับครอบครัวเพื่อที่พวกเขาจะได้ดำรงอยู่ในสันติสุขมีความคิดสร้างสรรค์ และมีความอดทนอดกลั้นในช่วงที่เกิดโรคระบาด และจำเป็นต้องกักตัวเองอยู่แต่ภายในบ้าน”
ในการเทศน์สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเน้นถึงความสำคัญของความเป็นเอกภาพแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันซึ่งควรได้รับแรงบันดาลใจจากปัจจัยสองประการด้วยกัน ของบทอ่านในวันนี้ คือการตำหนินักบุญเปโตรจากพระศาสนจักรแรกเริ่มที่เปโตรไปรับประทานอาหารกับคนบาป และสาส์นของพระเยซูคริสต์ในพระวรสาร “เราคือผู้เลี้ยงแกะที่ดีของทุกคน”
เมื่อพูดถึงบทอ่านทีหนึ่งของวันนี้ จากหนังสือกิจการอัครสาวก เมื่อคริสตชนในกรุงเยรูซาเล็มตำหนินักบุญเปโตรที่ท่านไปนั่งรับประทานกับพวกคนต่างศาสนา ต่างความเชื่อ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแสดงความเห็นว่า นี่เป็นตัวอย่างของการแตกแยกมากมายที่พวกเราพบในพระศาสนจักรยุคแรกๆ
พระองค์ทรงรำพันว่าแรงผลักดันทำให้เกิดการแตกแยกนี้นำพวกเราไปสู่การแบ่งประชากรระหว่างผู้ชอบธรรมและคนบาป ระหว่าง “พวกเรา” และ “พวกเขา”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสย้ำว่า “พระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์สำหรับมวลมนุษย์ทุกคน”
นี่หมายความว่าพวกเราไม่สามารถที่จะแยก แบ่งกลุ่ม แบ่งพวก และตัดผู้อื่นออกไปในทำนองที่ว่าพระเยซูคริสต์ก็มิได้ตัดพวกเขาออกไป
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเชื้อเชิญพวกเราให้อธิษฐานภาวนาเพื่อความเป็นเอกภาพของมนุษย์ชายหญิงทุกคน
“ขอพระเยซูคริสต์ โปรดให้พวกเราเลิกใช้หลักการทางจิตวิทยาแห่งการแตกแยก” พระองค์ทรงสรุป “ขอพระเยซูคริสต โปรดให้พวกเราเห็นความจริงยิ่งใหญ่นี้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ กล่าวคือในพระองค์นั้นทำให้พวกเราทุกคนล้วนเป็นพี่เป็นน้องกัน และพระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีของพวกเราทุกคน”
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงจบพิธีด้วยการอวยพรศีลมหาสนิทและเชื้อเชิญบรรดาสัตบุรุษให้มีจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน
บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (ฉบับเต็ม)
เมื่อเปโตรขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มบรรดาสัตบุรุษต่างตำหนิเขา (เทียบ กจ. 11: 1-8) เขาถูกตำหนิเพราะเขาเข้าไปในบ้านของชายที่ไม่ได้รับศีลตัด หรือเข้าสุหนัด และรับประทานอาหารร่วมกับพวกนอกศาสนา ต่างความเชื่อ เปโตรทำเช่นนี้ไม่ได้ นี่เป็นบาป ความบริสุทธิ์ของบทบัญญัติไม่อนุญาตให้กระทำเช่นนี้ แต่เปโตรได้กระทำไปเพราะพระจิตทรงนำเขาไป ในพระศาสนจักรมักมีเรื่องเช่นนี้เสมอ และเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมากมายในพระศาสนจักรแรกเริ่ม เพราะว่ามีหลายสิ่งที่ยังไม่มีความชัดเจน เกี่ยวกับความคิดความเข้าใจที่ว่า “พวกเราเท่านั้นเป็นผู้ชอบธรรม ส่วนคนอื่นนั้นเป็นคนบาป” คำว่า “พวกเราและผู้อื่น” ทำให้เกิดการแบ่งแยก “ความจริงพวกเราอยู่ในฐานะที่ถูกต้องแล้วต่อพระพักตร์พระเจ้า” แต่ก็มีการพูดมาก่อนแล้วว่ามี “ผู้อื่น” “พวกเขาเป็นพวกที่จะถูกตราหน้า” และนี่คือความป่วยของพระศาสนจักร ความป่วยที่เกิดจากอุดมการณ์ลัทธิศาสนา… ขอให้คิดว่าในยุคของพระเยซูคริสต์นั้นมีลัทธิศาสนาอยู่ 4 ลัทธิ คือลัทธิของฟาริสี ซัดดูชี ซีล็อต และเอสเซ็น แต่ละลัทธิต่างก็ตีความธรรมบัญญัติตามความคิดความเข้าใจของตนเอง และความคิดเช่นนี้เป็นสถาบัน “นอกกฎหมาย” เมื่อมีการคิดเชิงโลกียวิสัย และทำตัวเป็นคนตีความธรรมบัญญัติ พวกเขาตำหนิพระเยซูคริสต์ด้วยเช่นกัน ที่พระองค์เข้าไปในบ้านของพวกคนเก็บภาษีซึ่งสำหรับพวกเขาแล้วถือว่าเป็นคนบาป เพราะความบริสุทธิ์แห่งธรรมบัญญัติใม่อนุญาต แล้วพวกเขาก็ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร… การตำหนิเช่นนั้นก่อให้เกิดความแตกแยกเสมอ นี่เป็นเรื่องสำคัญที่พ่ออยากจะเน้น
ความคิดเกี่ยวกับการแบ่งเขาแบ่งเราและการมีอคติ ที่ก่อให้เกิดการแตกแยกจนกระทั่งว่าการแตกแยกนั้นมีอิทธิพลมากกว่าความเป็นเอกภาพ บางที่พวกเราลืมไปความคิดของฉันมีความสำคัญมากกว่าความคิดของพระจิตในการชี้นำพวกเรา มีพระคาร์ดินัลเกษียณอายุท่านหนึ่งพำนักอยู่ในวาติกันนี้ ท่านเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ท่านกล่าวกับสัตบุรุษของท่านว่า ท่านทราบไหมว่าพระศาสนจักรเป็นประดุจแม่น้ำ? บางคนก็อยู่ฝั่งนี้ บางคนก็อยู่ฝั่งโน้น แม้ว่าอยู่คนละฝั่งกัน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือทุกคนอยู่ในสายแม่น้ำเดียวกัน นี่คือความเป็นเอกภาพของพระศาสนจักร ไม่ไม่ผู้ใดอยู่ข้างนอก ทุกคนอยู่ในพระศาสนจักร สิ่งที่สำคัญคือไม่มีการแตกแยก ไม่ใช่อุดมการณ์ นี่เป็นสิ่งที่ชอบธรรม แต่เหตุใดพระศาสนจักรจึงมีลักษณะเช่นนี้? เพราะว่าพระเยซูคริสต์ทรงประทับอยู่กับพระศาสนจักร
ในพระวรสารพระเยซูคริสต์ตรัสว่า “เรายังมีแกะอื่นๆซึ่งไม่อยู่ในคอกนี้ เราต้องนำหน้าแกะเหล่านี้ด้วย แกะจะฟังเสียงของเรา จะมีแกะแต่เพียงฝูงเดียว และผู้เลี้ยงแกะเพียงคนเดียว” (ยน. 10: 16) พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “เรามีแกะอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีของแกะทุกตัว” คำว่า “ทุกตัว” สำหรับพระเยซูคริสต์นั้นมีความสำคัญ เราคิดถึงนิทานเปรียบเทียบเรื่องงานเลี้ยงการแต่งงาน (เทียบ มธ. 22: 1-10) เมื่อแขกผู้รับเชิญไม่มาในงาน คนหนึ่งเพราะเขาไปซื้อไร่นา อีกคนหนึ่งเพราะเขาแต่งงาน… แต่ละคนต่างก็ให้เหตุผลที่ไม่ไปร่วมงาน กษัตริย์จะทรงพระพิโรธแล้วกล่าวว่า “จงไปตามทางแยกพบผู้ใดก็ตาม จงเชิญมาในงานวิวาห์เถิด” (ข้อ 9) ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งผู้น้อย ทั้งคนรวยคนจน ทังคนดีคนชั่ว เชิญให้หมดทุกคน คำว่า “ทุกคน” นี้คือวิสัยทัศน์ของพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเสด็จมาเพื่อทุกคน และทรงสิ้นพระชนม์เพื่อทุกคน แล้วพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเจ้าวายร้ายนั้น ที่ทำให้ชีวิตของฉันต้องตกระกำลำบากด้วยหรือไม่? พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อเขาด้วยเช่นกัน “แล้วสำหรับโจรคนนั้นด้วยหรือ? พระองค์สิ้นชีวิตเพื่อเขา เพื่อทุกคน และสำหรับคนที่ไม่เชื่อในพระองค์ หรือที่นับถือศาสนาอื่นด้วย พระองค์สิ้นพระชนม์สำหรับมนุษยชาติทุกคน นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเราต้องบังคับให้ผู้อื่นกลับใจ พ่อขอร้องอย่าบังคับผู้ใดให้เปลี่ยนศาสนา แต่ขอให้มั่นใจและเชื่อว่าพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อมวลมนุษย์ทุกคน พระองค์ทรงสร้างความชอบธรรมให้กับทุกคน มีสตรีผู้หนึ่งในกรุงโรมคือ ดร. มารีอา กราเซีย มาร่า (Maria Grazia Mara) ขณะที่เธอเผชิญปัญหาหลายอย่างช่วงที่มีหลายพรรคหลายพวก เธอกล่าวว่า “พระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์สำหรับพวกเราทุกคน ขอให้พวกเราเดินหน้ากันต่อไป” เธอมีทัศนคติสร้างสรรค์ดังกล่าว พวกเรามีพระผู้ไถ่เพียงแต่พระองค์เดียว พวกเรามีเอกภาพแต่เพียงหนึ่งเดียว พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์สำหรับมวลมนุษย์ทุกคน แต่ก็มีการประจญล่อลวง… แม้กระทั่งเปาโลก็ไม่เว้น ที่ต้องทนทุกข์: ฉันอยู่ข้างเปาโล ฉันอยู่ข้างอาปอลโล ฉันอยู่ข้างนี้ ฉันอยู่ข้างนั้น… “และพวกเราก็คิดถึงแต่ตัวเองแม้ 50 ปีหลังจากการประชุมสภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 พระศาสนจักรต้องเผชิญปัญหา มีความทุกข์เพราะการแตกแยก “ฉันเป็นสมาชิกของพรรคนี้ ฉันคิดอย่างนี้ ท่านคิดอย่างนั้น…” ใช่แล้ว ไม่ผิดที่จะคิดเช่นนั้น แต่ต้องอยู่ภายใต้ความเป็นเอกภาพของพระศาสนจักร ภายใต้พระเยซูคริสต์ผู้เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี
ดังนั้น ข้อคิดในวันนี้มีอยู่สองเรื่องด้วยกัน บรรดาอัครสาวกและสัตบุรุษได้ตำหนิเปโตรเพราะเขาเข้าไปในบ้านของคนนอกศาสนา และพระเยซูคริสต์ผู้ทรงกล่าวว่า “เราคือผู้เลี้ยงแกะที่ดีของทุกคน” และพระองค์ยังทรงกล่าวด้วยว่า “เรายังมีแกะอื่นๆที่ไม่อยู่ในคอกนี้ เราต้องนำหน้าพวกเขาด้วย เขาจะฟังเสียงของเรา เพื่อที่จะได้มีแกะฝูงเดียว” (เทียบ ยน. 10: 16) นี่เป็นคำภาวนาเพื่อความเป็นเอกภาพของทุกคน เพราะพวกเราทั้งชายและหญิงต่างมีผู้เลี้ยงแกะที่ดีเพียงผู้เดียว นั่นคือ พระเยซูคริสต์
ขอพระเยซูคริสต์ โปรดทำให้พวกเราเป็นไทจากความคิดในเชิงจิตวิทยาของการแตกแยก และช่วยพวกเราให้ได้เห็นเอกภาพในพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นความยิ่งใหญ่ของพระองค์ซึ่งในพระองค์นั้นพวกเราต่างเป็นพี่เป็นน้องกัน และพระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีของมวลมนุษย์ทุกคน วันนี้ขอให้คำว่า “ทุกคน” ติดตามพวกเราไปจนตลอดทั้งวัน
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงจบพิธีด้วยการอวยพรศีลมหาสนิทพร้อมกับเชื้อเชิญบรรดาสัตบุรุษให้ร่วมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน
ข้าแต่พระเยซูคริสต์ ลูกขอกราบลง ณ แทบพระบาทของพระองค์ ลูกขอมอบการเป็นทุกข์ถึงบาปจากใจจริงของลูก ดวงใจที่มัวแต่สาละวนอยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นเรื่องอันไร้สาระต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ ลูกขอกราบนมัสการพระองค์ในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรักของพระองค์ ในขณะที่กำลังรอที่จะรับความสุขแห่งศีลมหาสนิท ลูกปรารถนาที่จะรับพระองค์ทางจิตวิญญาณ ข้าแต่พระเยซูคริสต์ โปรดเสด็จมายังลูกเพื่อลูกจะได้เข้าไปหาพระองค์ ขอให้ความรักของพระองค์จงเผาตัวลูกทั้งในชีวิตและในความตาย ลูกเชื่อในพระองค์ ลูกไว้ใจในพระองค์ ลูกรักพระองค์ อาแมน
Regina caeli laetare, alleluia.
Quia quem meruisti portare, alleluia.
Resurrexit, sicut dixit, alleluia.
Ora pro nobis Deum, alleluia.
(Christ, whom you bore in your womb, alleluia,
Has risen, as He promised, alleluia.
Pray for us to the Lord, alleluia).
(ราชินีสวรรค์ จงชื่นชมยินดีเถิด อัลเลลูยา
เพราะพระองค์ที่พระแม่อุ้มไว้ในครรภ์ อัลเลลูยา
ได้ทรงกลับเป็นขึ้นมาตามที่ได้ทรงสัญญาไว้ อัลเลลูยา
โปรดภาวนาต่อพระองค์เพื่อลูกด้วยเทอญ อัลเลลูยา)
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทเทศน์นี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- พระสันตะปาปาฟรานซิสประชุมหารือผ่านทาง “video conference” กับพระอัครอัยกาคีริล (Kirill)
- สาส์น ปี ค.ศ. 2020 ถึง ผู้อำนวยการของสมณองค์กรเพื่อการแพร่ธรรม National Director and Members of Pontifical Mission Societies (PMS)
- พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงยืนยันว่า
เลบานอนคือประเทศต่อไปที่พระองค์จะเสด็จไปเยือน - บทเทศน์: น้อมรับการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ของเรา