Skip to content

โควิด-19 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงครุ่นคิดและไตร่ตรอง
เกี่ยวกับแผนการฟื้นฟูชีวิตปวงชน ขณะเกิดการแพร่โรคระบาด
และหลังจากมหันตภัยของโรคร้ายโควิด19 ผ่านพ้นไป

วลีแรกที่พระเยซูคริสต์ พระผู้เสด็จกับฟื้นคืนชีพตรัส คือ จงชื่นชมยินดีเถิด!

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2020 ในขณะที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ และหน่วยงานทุกระดับพากันคิดว่าพวกเราจะกลับเข้าสู่สภาวะของชีวิต “แบบปกติ” อย่างไร  หลังจากการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสิ้นสุดลง สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเตรียมการเมื่อบรรดาผู้คนพ้นจากการถูกกักกันตัวเองภายในบ้านหรือสถานที่ต่างๆ

        พระองค์ทรงให้ข้อคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้ หลังจากการไตร่ตรอง ซึ่งข้อคิดต่างๆของพระองค์ได้ปรากฏ บนเว็บไซต์ของนิตยสารชีวิตใหม่ (Vida Neva) ภาษาสเปน เมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา  ในการครุ่นคิดไตร่ตรองดังกล่าวสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเปรียบเทียบระหว่างประสบการณ์ของประชาชนในช่วงที่มีการแพร่โรคระบาดในทุกวันนี้ กับการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์

        “จงชื่นชมยินดีเถิด!” เป็นวลีแรกที่พระเยซูคริสต์ พระผู้เสด็จกลับคืนชีพตรัสดังที่รายงานโดยสำนักข่าววาติกันได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการไตร่ตรองของพระสัตะปาปา พระองค์กล่าวว่านี่เป็นคำพูดที่พระเยซูคริสต์ทรงทักทาย “มารีย์มักดาเลนา และทรงประสงค์ที่จะยกย่องสตรีเหล่านี้ขึ้นสู่ชีวิตใหม่ และกับมนุษย์ทุกคนพร้อมกับพวกเธอ”

        การเชื้อเชิญศิษย์ที่กำลังเดินทางไปยังตำบลเอมมาอุสที่โศกเศร้า เดินคอตกแบบผิดหวัง ขอให้มีความชื่นชมยินดีเถิดนี่เป็นการท้าทายในชีวิต พระสันตะปาปายังทรงไตร่ตรองอีกว่า ประสบการณ์ของพวกเราทุกวันนี้ก็คล้ายกับประสบการณ์ของบรรดาอัครสาวกช่วงแรกๆ  พวกเราเฉกเช่นท่านเหล่านั้น “พวกเขาต่างก็ดำเนินชีวิตที่ล้อมรอบไปด้วยบรรยากาศแห่งความทุกข์ ความเจ็บปวดและความไม่แน่นอน…”  และบรรดาสตรีถามว่า “ใครล่ะจะเป็นผู้กลิ้งหินที่ปิดปากคูหาออกไป?” (มก. 16: 3) พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอธิบายว่าก้อนหินใหญ่ที่ปิดปากคูหาฝังศพเป็นดุจสิ่งที่ “ท้อแท้ใจ และทำลายกำลังใจเหมือนการฝังกลบความหวังให้หมดสิ้นไป” และพระองค์ทรงอธิบายถึงผลร้ายที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ เช่น ผู้สูงอายุถูกบังคับให้ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ครอบครัวมีอาหารไม่พอกิน พวกที่ทำงานหนักอยู่แนวหน้า โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ “หมดเรี่ยวแรงเพราะงานหนักมากเกินไป” นี่เป็น “ความหนักหน่วง” พระองค์ตรัส “ที่ดูเหมือนจะเป็นคำพูดของคนที่กำลังตัดพ้อ ท้อแท้หมดหวัง หมดกำลังใจ”

        แต่ว่า ขอให้สังเกตว่า บรรดาสตรีที่ไม่ยอม ไม่ยอมท้อโดยให้เหตุการณ์มหาทรมานของพระเยซูคริสต์ทำให้พวกเขาพิกลพิการ แบบเป็นอัมพาต ในการไตร่ตรองนี้พระสันตะปาปาเกิดแรงบันดาลใจ ทรงนำสิ่งที่พระองค์เริ่มต้นในบทเทศน์ของค่ำวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ก่อนวันสมโภชปัสกา “เพราะความรักต่อพระอาจารย์ และด้วยภูมิปัญญาของสตรีอย่างพิเศษ ซึ่งทดแทนกันไม่ได้และน่าชื่นชมพวกเขา ผู้สามารถเผชิญกับปัญหาชีวิต และช่วยกันพยุพยุงกันเรื่อยมา” ในขณะที่บรรดาอัครสาวกต่างพากันหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ปฏิเสธพระเยซูคริสต์ พวกเขาแอบซ่อนเพราะความหวาดกลัว แต่บรรดาสตรีพบหนทางที่จะเอาชนะต่ออุปสรรคทุกอย่างที่ขัดขวางหนทาง  พวกเขาทำไปเพียงที่ต้องการ “อยู่กับพระองค์และติดตามพระองค์ไปอย่างซื่อสัตย์” เท่านั้น

        การเปรียบเทียบระหว่างการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ และการแพร่โรคระบาดโควิด19 พวกเรายังได้ฟังในบทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสช่วงพิธีมิสซา ณ วัดน้อยภายในสถานพำนักซางตามาร์ธา นครรัฐวาติกัน เมื่อวันจันทร์ที่ 13 เมษายน 2020 ด้วย

        “พระเจ้าทรงเริ่มต้นพันธกิจโดยสตรีเสมอ” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงยืนยันในบทเทศน์เมื่อวันจันทร์ที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา “พวกเขาเป็นผู้เบิกทาง พวกเขาไม่มีความสงสัย:  พวกเขาทราบเรื่องราวอย่างดี พวกเขาเห็นพระองค์ พวกเขาสัมผัสพระองค์ พวกเขายังเห็นคูหาฝังศพของพระองค์ที่ว่างเปล่าด้วย

นี่เป็นความจริงว่าบรรดาศิษย์ไม่เชื่อและกล่าวว่า “ดูเหมือนสตรีพวกนี้อาจจะจินตนาการมากไปหน่อย”…. บรรดาศิษย์ต่างบอกว่าฉันไม่ทราบ ระหว่างพวกเขาต่างก็ฉงนและสงสัยกันเอง แต่ในที่สุดพวกเขามั่นใจในที่สุด ดังนั้นพวกเขาจึงติดตามไปในเส้นทางนี้จนกระทั่งทุกวันนี้ คือ พระเยซูคริสต์เสด็จกลับคืนชีพจริงๆ พระองค์ยังทรงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางพวกเรา (เทียบ มธ. 28: 9-10)

        ในบทเทศน์นั้นสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยังทรงเปรียบเทียบการตัดสินใจที่บรรดาสตรีกระทำเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์คูหาฝังศพที่ว่างเปล่า กับการตัดสินใจขณะที่เกิดสถานการณ์ของการแพร่ระบาดจากไวรัสโคโรนา  บรรดาสตรีประกาศความจริง ส่วนพวกทหารยามรับอามิสสินจ้างแล้วหุบปากเงียบปิดบังความจริง

        “วันนี้ก็เช่นเดียวกัน ท่ามกลางสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งพวกเราหวังอย่างแรงกล้าว่าคงจะไม่ช้านี้ การแพร่ระบาดของโรคร้ายจะสิ้นสุดลง พวกเราก็มีทางเลือกสองลักษระ กล่าวคือ พวกเราจะเลือกเอาชีวิตเพื่อการกลับคืนชีวิตใหม่ของประชาชน หรือการเลือกเพื่อเงินทองเข้ามาเป็นพระเจ้า  คือการหวนกลับไปยังคูหาแห่งความอดอยาก การเป็นทาส เริ่มสงคราม เริ่มโรงงานผลิตอาวุธ ปล่อยเด็กๆให้ไร้การศึกษา…. นี่แหละจะกลายเป็นหายนะแบบคูหาศพฝังศพรออยู่ที่นั่น”

        ในการไตร่ตรองของพระสันตะปาปาเมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา พระองค์ทรงชมเชยความพยายามของหลายๆบุคคลที่ช่วยกันเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

        ทุกวันนี้หลายบุคคล “กำลังนำน้ำมันเครื่องหอม” และ “นำมาช่วยการเจิม การชโลม” ซึ่งหมายถึง “ความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม”  สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสย้ำว่า  พวกเขากำลังรับใช้พระเยซูคริสต์ในบรรดาเพื่อนพี่น้อง  บางคนทำไปโดยไม่สร้างความเสี่ยงให้กับผู้อื่น บางคนต้องเสี่ยงกับชีวิต เช่น “แพทย์ พยาบาล คนที่จัดเรียงสินค้าตามชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ต คนทำความสะอาด ผู้ดูแลผู้อื่น คนที่ทำการขนส่งสินค้า เจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยสาธารณะ อาสาสมัคร นักบวชหญิง สถาบันการศึกษา และอื่นๆอีกมากมาย” ต่างพากันตั้งถามคำถามเดียวกันกับบรรดาสตรีเหล่านั้น “ใครล่ะจะเป็นคนกลิ้งก้อนหินใหญ่ที่ปิดปากคูหาฝังศพนั้นออกไป?”  สมเด็จพระสันตะปาปาก็ทรงยอมรับว่า นี่ไม่ได้ห้ามพวกเขาจาก “การกระทำที่พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาสามารถทำได้ และมีหน้าที่ต้องทำ”

        เมื่ออ้างอิงถึง การแพร่ระบาดของโรคร้ายและภราดรภาพสากล: ข้อสังเกตเกี่ยวกับความฉุกเฉินแห่งโควิด-19 เอกสารที่ออกโดยสถาบันเพื่อชีวิตแห่งสันระสำนัก นครรัฐวาติกัน (เอดสารนี้ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย) สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเน้นว่าโรคระบาดนี้จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาด้วย “ยาฆ่าเชื้อแห่งความอื้ออาทร” และ “การออกแรงกระทำของแต่ละบุคคล” พระองค์ย้ำ “ไม่ใช่เป็นกรณีโดดเดี่ยว”  และ “ไม่ว่าการปฏิบัติการจะดีหรือไม่สู้ดี” การกระทำทุกอย่างล้วนมีผลกระทบต่อผู้อื่น  แต่ละคนมีประวัติศาสตร์จำเพาะของตนเอง และสามารถที่จะตอบโต้กับความชั่วร้ายที่มีผลกระทบต่อนับล้านๆผู้คนทั่วโลก  ดังนั้น “จึงไม่บังควรที่พวกเราจะเขียนประวัติศาสตร์ปัจจุบัน และอนาคตโดยหันหลังให้กับความทุกข์ยากในชีวิตของผู้คนเป็นอันมาก พูดอีกอย่างหนึ่งอย่าเป็นคนฉกฉวยโอกาส เอารัดเอาเปรียบจากความทุกข์ของผู้อื่น โดยเฉพาะคนยากจน คนที่ไม่มีปากเสียงในสังคม

        ในการสัมภาษณ์เมื่อต้นสัปดาห์นี้พระคาร์ดินัลปีเตอร์ เตอร์กซัน (Card. Peter Turkson) สมณมนตรีของสมณสภาเพื่อส่งเสริมการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม ได้ระบุความพยายามของสมณสภาดังกล่าวว่ากำลังทำอะไรกันบ้างเพื่อตอบสนองต่อการแพร่โรคระบาด และการเตรียมตัวในการจัดการหลังการยุติของโรคระบาดโควิด19

        ณ วันนี้ “เราได้จัดตั้งคณะทำงาน 5 คณะด้วยกันที่กำลังปฏิบัติงานกันอยู่ พวกเราได้มีการประชุมกันสองครั้งแล้วร่วมกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส” พระคาร์ดินัล เตอร์กซัน กล่าวว่า “เราได้สร้างศูนย์กลางควบคุมเพื่อประสานความคิดริเริ่มที่จะต้องนำมาปฏิบัติในช่วงของวิกฤต และสิ่งต่างๆมากมายที่ต้องเตรียมไว้สำหรับอนาคต  พันธกิจของพวกเราเป็นการรับใช้ในรูปของการกระทำอย่างจริงจังและความคิดสร้างสรรค์  บัดนี้พวกเราต้องการการกระทำที่เป็นรูปธรรม และพวกเรากำลังกระทำอยู่

        “พวกเราต้องมองข้ามหลังจากวันนี้ เพื่อกำหนดเส้นทางสำหรับการเดินทางที่ยากลำบากซึ่งกำลังรอพวกเราอยู่ข้างหน้า  หากพวกเราไม่คิดถึงวันพรุ่งนี้และอนาคต พวกเราจะพบว่าพวกเราไม่พร้อมอีกแล้ว เริ่มล้มเหล็ว  การลงมือกระทำวันนี้และการครุ่นคิดเกี่ยวกับวันพรุ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงทางเลือก…แต่ต้องกระทำจริงจัง  ดังนั้นทีมงานของพวกเราเริ่มร่วมมือกันกับสำนักเลขาธิการแห่งสันตะสำนัก นครรัฐวาติกัน  สำนักงานเลขาธิการเพื่อการสื่อสารสังคม สำนักงานการีตัสสากล สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสันตะสำนักเพื่อชีวิต สำนักงานเพื่อเมตตาธรรมแห่งสันตะสำนัก สมณกระทรวงเพื่อการประกาศพระวรสารสู่ปวงชน และองค์กรเภสัชกรรมแห่งสันตะสำนัก  พวกเรากำลังสร้างรูปแบบใหม่ของการร่วมมือกันระหว่างทีมงานของพวกเรากับสมณกระทรวงฯ  สมณสภาฯ และสำนักงานต่างๆแห่งสันตะสำนัก ในรูปแบบของคณะทำงานอย่างเป็นรูปธรรม  นี่เป็นความร่วมมือที่คล่องตัวซึ่งเป็นประจักษ์พยานแห่งความเป็นเอกภาพและความสามารถของพระศาสนจักรคาทอลิก ณ วันนี้ ในการมีปฏิกิริยาตอบสนองหลังเหตุการณืแพร่ระบาดโรคร้ายโควิด19 และแน่นอนการประสานงานกับพระศาสนจักรท้องถิ่นทั่วโลก พวกเราจะดำเนินไปในทิศทางเดียวกันและในเอกภาพ”

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทความนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรองเพื่อเตรียมการหลังจากการแพร่ระบาดโรคร้ายสิ้นสุดลง และการฟื้นฟูชีวิตใหม่)