ขณะที่เกิดโรคร้ายระบาดพระเจ้าอยู่ที่ไหน?
พิธีกรรมถูกยกเลิกทั้งหมดที่วัดนักบุญ Catherine of Siena ทางปีกขวาด้านบน แต่จะมีน้ำยาล้างมือสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าไปสวดภาวนา
“คำตอบที่ตรงไปตรงมาคือ เราไม่ทราบ
แต่แม้คนที่ไม่ใช่คริสตชนก็อาจจะ
มีความเข้าใจในชีวิตของพระเยซูคริสต์ได้”บทความนี้เขียนโดย Rev James Martin SJ (นิวยอร์ค ไทม์ 22/03/2020)
(วิษณุ ธัญญอนันต์ - เก็บมาอ่านในยามเผชิญความทุกข์ร่วมกันและไตร่ตรอง)
เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าต้องไปรับการตรวจสอบสุขภาพด้วยรังสี ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าเดินผ่านประตูที่เขียนว่า “ห้องฉายรังสีเนื้องอก” หัวใจข้าพเจ้าดูเหมือนจะหยุดเต้นไปหนึ่งจังหวะ ในขณะที่ข้าพเจ้าตกอยู่ในอันตรายเล็กน้อย (เนื้องอกของข้าพเจ้าไม่ร้ายแรง แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องฉายแสง) ทุกๆวันข้าพเจ้ามีโอกาสพบผู้คนที่ใกล้ความตาย
ตลอด 6 สัปดาห์เว้นวันสุดสัปดาห์ ทุกๆวันข้าพเจ้าเรียกรถแท็กซี่ “ไปถนน 68 และถนนยอร์ค” เมื่อไปถึงข้าพเจ้าจะเข้าไปสวดในวัดที่อยู่ใกล้ๆ หลังจากนั้นจะเดินไปพบแพทย์ตามนัดใกล้ๆบริเวณนั้นที่เต็มไปด้วยโรงพยาบาล ข้าพเจ้าเดินผ่านผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ศีรษะโล้นไม่มีผม คนชราทั้งชายและหญิงนั่งในรถเข็นที่มีคนเข็นให้ออกมาจากห้องผ่าตัด แต่ที่ข้างทางเดินมีแพทย์ พยาบาล และผู้ฝึกงานรวมทั้งคนอื่นๆอีกคอยเฝ้าดูแลผู้ป่วย อยู่มาเช้าวันหนึ่งข้าพเจ้าต้องไปที่ถนน 68 และยอร์ค แม้จะไม่ใช่วันที่นัดกับแพทย์
ในสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาคนจำนวนล้านๆคนเริ่มกลัวว่าพวกเขาจะต้องนัดพบแพทย์อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากความวิตกการติดเชื้อโรคระบาดโควิด-19 ความร้ายกาจของโรคร้ายนี้คือติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วมากแบบราดน้ำมันเข้าไปในเปลวไฟ ในฐานะที่เป็นบาดหลวงศาสนบริกร ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังเรื่องราวความตื่นตระหนกอย่างคนไร้สติในเดือนที่แล้ว ผู้คนมากมายทั้งตื่นตระหนก หวาดกลัว โกรธแค้น เสียใจ สับสน และสิ้นหวัง ยิ่งวันข้าพเจ้ายิ่งดูเหมือนกำลังมีชีวิตอยู่แบบในภาพยนตร์ที่มีความรุนแรงเหี้ยมโหด แต่เป็นความเหี้ยมโหดที่ข้าพเจ้าสลัดทิ้งทันที โดยสัญชาติญาณ เพราะว่ามันรบกวนและกระวนกระวายในหัวใจมากเกินไป กระทั่งผู้ที่เป็นนักบวชส่วนใหญ่จะถามข้าพเจ้าว่า ทำไมเรื่องอย่างนี้จึงเกิดขึ้นได้? พระเจ้าไปอยู่ที่ไหน?
โดยแก่นแล้วปัญหานี้เป็นเรื่องเดียวกันเมื่อประชาชนถามขณะที่เกิดพายุเฮอริเคนหอบเอาหลายร้อยชีวิตไปในพริบตา หรือเมื่อทารกน้อยคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เราเรียกว่า “ปัญหาแห่งความทุกข์” “พระธรรมล้ำลึกแห่งการเผชิญความชั่ว” หรือ “ทำไมพระเจ้าจึงปล่อยให้มีความชั่วร้าย” นี่แหละเป็นประเด็นหรือกระทู้ที่บรรดานักบุญและนักเทวศาสตร์ถกถึยงอภิปรายกันมาเป็นเวลา 4 พันปีแล้ว เรื่องความทุกข์ตาม “ธรรมชาติ” (จากการเจ็บป่วย หรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ) เหล่านี้ล้วนแตกต่างจาก “ความชั่วร้ายที่ผิดทางด้านศีลธรรม” (ซึ่งความชั่วเกิดจากการกระทบของปัจเจกบุคคล เช่นฮิตเลอร์ สตาลิน) แต่ขอให้เราทิ้งความแตกต่างในเชิงเทวศาสตร์ไว้ก่อน ปัญหา ณ เวลานี้กำลังสุมในหัวอกของผู้มีความเชื่อนับล้านๆคน ซึ่งเมื่อเห็นอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องราวที่แพทย์ถูกบังคับให้ดูแลรักษาผู้ป่วย พร้อมกับให้ลดรูปภาพจำนวนโรงศพให้น้อยลง เพราะเหตุใด?
ตลอดเวลาหลายคริสตศตวรรษที่ผ่านมา ได้มีการเสนอคำตอบมากมายเกี่ยวกับความทุกข์ที่เกิดตามธรรมชาติ ซึ่งทุกคำตอบก็ยังไม่สมบูรณ์และไม่จุใจ ส่วนคำตอบที่เป็นสายกลางที่สุดคือความทุกข์เป็นการทดสอบชีวิต ความทุกข์ทดสอบความเชื่อของพวกเราโดยทำให้ชีวิตฝ่ายจิตเข้มแข็งขึ้น “พี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย เมื่อใดที่ท่านต้องเผชิญกับการทดสอบใดๆ ขอให้ถือว่านี่ไม่ได้เป็นอะไรในทางลบ นอกจากความชื่นชมยินดี เพราะท่านทราบดีว่าการทดสอบความเชื่อของท่านจะก่อให้เกิดความยืนหยัดอดทน ชีวิตที่แข็งแกร่ง” เป็นคำเตือนในจดหมายของนักบุญยาก็อบที่บันทึกในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ แต่ในขณะที่การอธิบายความทุกข์ว่าเป็นการทดสอบ อาจช่วยได้ในการทดสอบแบบเบาๆ เช่นความอดทนจากคนที่เข้ามารบกวนใจ) แต่ดูเหมือนความอดทนอย่างเดียวจะล้มเหลวในประสบการณ์ของมนุษย์ที่ต้องเผชิญการทนทุกข์แบบหนักหน่วง พระเจ้าส่งมะเร็งไป “ทดสอบ” เด็กน้อยหรือ? ใช่ พ่อแม่เด็กอาจเรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับการยืนหยัดในความเชื่อ แต่วิธีการนี้ดูเหมือนจะทำให้ภาพลักษณ์ของพระเจ้าเปรียบเสมือนยักษ์มารผู้ใจร้าย
เช่นเดียวกันกับข้อโต้แย้งที่ว่าความทุกข์เป็นการลงโทษต่อบาป ซึ่งยังคงเป็นความเชื่อทั่วไปของบางคน (ซึ่งปกติมักจะพูดว่าพระเจ้าลงโทษคนหรือกลุ่มที่ตนไม่ชอบ) ทว่าพระเยซูคริสต์ปฏิเสธวิธีการคิดแบบนี้ เมื่อพระองค์พบกับคนที่ตาบอด ในเรื่องที่เล่าในพระวรสารโดยนักบุญยอห์น “พระอาจารย์ ใครเป็นผู้ที่ทำบาป ชายคนนี้หรือพ่อแม่ของเขา?” พระเยซูคริสต์ตอบว่า “ชายคนนี้และพ่อแม่ของเขาไม่ได้ทำบาป” พระองค์ปฏิเสธอย่างเด็ดขาดเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่เป็นแบบยักษ์มารของพระบิดาเจ้า ในพระวรสารโดยนักบุญลูกา พระเยซูคริสต์ตอบเรื่องหอที่ล้มลงมาทับทับฝูงชนตายมากมาย “ท่านคิดว่าพวกเขาเป็นคนชั่วร้ายมากกว่าคนอื่นที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มหรือ? เราขอบอก ไม่เลย”
ความสับสนทั่วไปของผู้มีความเชื่อสรุปได้ด้วยสิ่งที่เรียกกันว่า “ขาหยั่งสามขาที่ไม่คงที่คงวา” ซึ่งบางคนรีบด่วนสรุปตรรกะของเขาว่า: พระเจ้าทรงมีอำนาจ ดังนั้นพระองค์สามารถที่จะระงับไม่ให้เกิดความทุกข์ได้ แต่พระเจ้ามิได้ทรงระงับเพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้นพระเจ้าจึงไม่มีอำนาจหรือไม่น่ารัก?
สุดท้ายเป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่าเหตุใดไวรัสโควิด-19 จึงคร่าชีวิตมนุษย์ไปนับพันๆคน เหตุใดโรคติดต่อนี้จึงระบาดไปทั่วโลก และเหตุใดจึงมีความทุกข์มากมาย? เราไม่ทราบในความลึกลับนี้ สำหรับข้าพเจ้านี่คือคำตอบที่ซื่อสัตย์และตรงไปตรงมาที่สุด บางท่านอาจคิดว่าโคโรน่าไวรัสเป็นส่วนหนึ่งตามธรรมชาติของโลก และในทางใดทางหนึ่งก็มีส่วนเอื้อต่อชีวิต แต่ความคิดแบบนี้ใช้ไม่ได้ เมื่อพูดถึงใครบางคนที่ต้องสูญเสียบิดามารดา ญาติพี่น้อง เพื่อนหรือคนที่รักไป ปัญหาสำคัญสำหรับผู้มีความเชื่อในยามทุกข์ก็คือ ท่านสามารถเชื่อในพระเจ้า ที่ท่านไม่อาจเข้าใจได้หรือไม่?
แต่หากความเร้นลับแห่งความทุกข์มีคำตอบ ผู้มีความเชื่อจะทำอย่างไรในยามที่ต้องเผชิญความทุกขเวทนาเช่นนี้? สำหรับคริสตชนก็คือพระเยซูคริสต์
คริสตชนเชื่อว่าพระเยซูคริสต์เป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ที่แท้จริง แต่บางครั้งพวกเราก็มองข้ามส่วนที่สอง พระเยซูแห่งนาซาเร็ธบังเกิดมาในโลกแห่งการเจ็บป่วย ในหนังสือ “Stone and Dung, Oil and Spit” (ศิลาและมูล น้ำมันและน้ำลาย) เขียนโดย โจดี้ แม็กเนส (Jodi Magness) นักวิชาการแห่งศาสนายูดายยุคแรกๆ ได้บรรยายถึงชีวิตประจำวัน ณ แคว้นกาลิลีในคริสตศตวรรษที่หนึ่ง ที่เขาเรียกผู้คนในสมัยของพระเยซูคริสต์ว่า “พวกสกปรกโสมม เน่าเหม็น และไม่อยู่ในร่องในรอยของศีลธรรม” ส่วนจอห์น ดอมินิค ครอสซัน (John Dominic Crossan) และโจนาธาน แอล. รีด (Jonathan L. Reed) นักวิชาการสรุปประวัติศาสตร์ภูมิหลังของพระเยซูคริสต์ในหนังสือที่ชื่อว่า “Excavating Jesus” ซึ่งเป็นเรื่องไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรง หรือพวกฟันผุเน่าที่อาจทำให้เสียชีวิตได้” นี่คือโลกของพระเยซู!
ยิ่งไปกว่านี้อีก ในพันธิจสาธารณะ พระเยซูคริสต์แสวงหาอยู่เสมอ ผู้ที่เจ็บป่วย การกระทำอัศจรรย์สวนใหญ่ของพระองค์คือการรักษาคนป่วยและคนพิการ คนที่เป็นโรคเรื้อน คนที่เป็นโรคลมบ้าหมู หญิงตกเลือด คนมือลีบ คนตาบอด คนหูหนวก คนง่อย ในเวลาที่น่ากลัวเหล่านี้ คริสตชนอาจพบได้กับความบรรเทาด้วยการทราบว่าเมื่อพวกเขาสวดอธิษฐานต่อพระเยซูคริสต์ พวกเขากำลังสวดต่อผู้ที่เข้าใจพวกเขาไม่ใช่เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่ทราบทุกสิ่งเท่านั้น แต่เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ที่มีประสบการณ์ทุกอย่างด้วย
สำหรับผู้ที่ไม่ใช่คริสตชนก็สามารถที่จะเห็นพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นแบบฉบับในการเอาใจใส่ดูแลรักษาคนป่วย ไม่จำเป็นต้องบอกก็ได้ว่าเมื่อต้องดูแลผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พวกเราควรที่จะต้องใช้ความระมัดระวังทุกอย่างเพื่อที่จะไม่ให้มีการติดต่อ แต่สำหรับพระเยซูคริสต์คนป่วยหรือคนที่กำลังใกล้ตายไม่ใช่เป็น “คนอื่น” ไม่ใช่คนที่จะถูกตำหนิ แต่เป็นเป็นพี่เป็นน้องของเรา
เมื่อพระเยซูคริสต์เห็นคนที่กำลังเดือดร้อน จากคำบอกเล่าในพระวรสารบอกเราว่าหัวใจของพระองค์ “รู้สึกสงสาร” พระองค์ทรงเป็นแบบฉบับว่า เราจะต้องเอาใจใส่ดูแลผู้อื่นอย่างไรในยามวิกฤตนี้ คือต้องมีหัวใจที่รู้สึกเมตตาสงสาร
ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าสวดภาวนาในวัดนั้นที่อยู่ใกล้ถนนเลขที่ 68 ตัดกับถนนยอร์ค ข้าพเจ้ามักจะหยุดอยู่ที่หน้าพระรูปพระเยซูซึ่งการพระหัตถ์ออกทั้งสองข้างและหัวใจเปิดกว้าง นี่เป็นเพียงรูปปั้นปูนปลาสเตอร์ ไม่มีศิลปะโดดเด่นใดๆ แต่มีความหมายสำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเหตุผลผู้คนกำลังล้มตาย แต่ข้าพเจ้าสามารถติดตามผู้ที่ทรงประทานชีวิตให้ข้าพเจ้า
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สันตะสำนักออกหนังสือ คู่มือการสอนคำสอน พร้อมกับคำแนะนำใหม่ในการสอนคำสอน
- สรุปเนื้อหาสมณสาส์นเวียนด้านสังคมของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
“ทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน – Fratelli Tutti” - สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- สมณลิขิต (Apostolic Letter) ของสันตะปาปาฟรานซิส โอกาสครบ 1600 ปีหลังการมรณภาพของนักบุญเจโรม
- วันระลึกถึง นักบุญยอห์น ที่ 23 พระสันตะปาปา (11 ตุลาคม)