ในการค้นคว้าหาต้นตอรูปแม่พระแห่งมอนต์เซอรัตมีการพบในตำราแห่งหนึ่งว่ารูปนี้ย้อนกลับไปถึงปี ค.ศ. 50 แกะสลักโดยนักบุญลูกา ขณะที่ท่านดำรงชีวิตอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม เพราะเหตุการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้รูปนี้ถูกย้ายจากเยรูซาเล็มไปยังประเทศอียิปต์ซึ่งเหมือนกับสะท้อนให้เห็นถึงการหนีของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ไปสู่ที่ปลอดภัยเนื่องจากถูกเบียดเบียนจากทหารของกษัตริย์เฮร็อด ในปี ค.ศ. 718 เพื่อหนีการทำลายจากการรุกรานของพวกแขกมัวร์รูปดังกล่าวถูกนำไปยังเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ซึ่งไม่มีผู้ใดทราบจนกระทั่ง ค.ศ. 880
โอกาสฤกษ์งามยามดี ณ วันนั้นคนเลี้ยงแกะ “ซึ่งเฝ้าฝูงแกะของตนในยามค่ำคืน” เห็นแสงสว่างและได้ยินเสียงเพลงข้างภูเขาที่กาตาโลเนียในทุกคืนวันเสาร์ติดต่อกันและเมื่อมีการสืบเสาะตามเสียงนั้น พวกเขาก็พบพระรูปบนขอบถ้ำแห่งหนึ่ง พวกเขาพยายามที่จะแห่พระรูปดังกล่าวไปยังอาสนวิหารในเมืองแต่ไม่สำเร็จ เพราะในขณะที่เขาแห่ไปนั้นพระรูปมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาตีความว่านี่เป็นเครื่องหมายที่พวกเขาต้องนำพระรูปไปไว้ที่อารามฤษีที่อยู่ใกล้บริเวณนั้น ต่อมาในศตวรรษที่ 9 เขาขยายอารามนั้นโดยมีวัดน้อย 4 แห่ง และในศตวรรษที่ 11 มีการตั้งอารามฤษีบนภูเขามอนต์เซอรัตซึ่งอยู่ไม่ห่างจากอารามฤษีเดิมนัก
ในปี ค.ศ. 1592 สักการะสถานเดิมได้รับการขยายให้เป็นมหาวิหารและถวายเป็นเกียรติแด่พระมารดาแห่งมอนต์เซอรัต จากนั้นก็มีผู้จาริกแสวงบุญไปเยี่ยมแม่พระแห่งมอนต์เซรัตมากมายตลอดมา เขาจึงสร้างสถานที่สักการะขึ้นสำหรับแม่พระแห่งมอนต์เซอรัตโดยเฉพาะ สัตบุรุษชอบเรียกพระรูปนั้นว่า “La Maremeta” หรือแม่พระองค์น้อยเนื่องจากพระรูปมีความสูงเพียง 37 นิ้ว พระรูปนั้นแสดงพระกุมารปรพทับนั่งอยู่บนตักของพระมารดา ทรงอวยพรด้วยพระหัตถ์ขวา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายถือผลลูกเฟอร์เล็กๆ ส่วนแม่พระทรงชูโลกด้วยพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายยื่นออกมาเหนือบ่าพระกุมารในทำนองพิทักษ์คุ้มครอง ต่อมาในปี ค.ศ. 1881 พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ทรงสวมมงกุฎให้กับพระแม่แห่งมอนต์เซอรัต
พระมารดาแห่งมอนต์เซอรรัต นครบาร์เชโลนา ประเทศสเปน: ค.ศ. 718
รูปสลักพระมารดานี้มีพระพัตร์สีดำ เพราะว่าโดนรมด้วยควันเทียนที่จุดอยู่ต่อหน้าทั้งวันทั้งคืนรูปนี้มีประวัติย้อนกลับไปอย่างน้อยก็ต้องศตวรรษที่ 12 นักบุญอิกญาซีอุสแห่งโลโยลา เดินทางไปแสวงบุญทุกปีที่มอนต์เซอรัตซึ่งมีผู้แสวงบุญมาเยี่ยมราวปีละล้านคนหรือกว่านั้นอีกในสมัยนี้
ภูเขามอนต์เซอรัต ตั้งอยู่ในเขตกาตาโลเนียทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากนครบาร์เซโลน่า ราว 45 กิโลเมคร ซึ่งรับชื่อมาจากภาษาสเปน กาตาลันที่แปลว่า “ภูเขาฟันเลื่อย” เพราะลักษณะของหินภูเขามองไกลๆเหมือนฟันเลื่อยจริงๆ ภูเขาที่สูงชันผิดปกตินี้มีความสูงชันเกือบเป็นเส้นตรง จุดสูงสุดสูงเกือบ 4,000 ฟุต ส่วนเส้นรอบวงฐานภูเขานั้นวัดได้ยาว 30 กิโลเมคร วันที่บรรจุรูปแม่พระอุ้มพระกุมารเกิดมีอัศจรรย์มากมายเมื่อขึ้นไปครึ่งทางของภูเขา
ตามคำบอกเล่าแต่โบราณกาลพระรูปที่ทำอัศจรรย์ได้นี้เดิมมีชื่อว่า “La Jerosolimitana” (เมืองเยรูซาเล็มเดิม) เพราะคิดว่ารูปนี้แกะสลักนี้อยู่ในยุคแรกๆของพระศาสนจักร ในที่สุดรูปดังกล่าวถูกมอบให้กับนักบุญ เอเตเรโอ ผู้นำพระศาสนจักรแห่งนครบาร์เซโลน่าซึ่งเป็นผู้นำพระรูปนี้ไปยังประเทศสเปน
ในศตวรรษที่ 7 เมื่อแขกซาราเซ็นบุกรุกประเทศสเปน คริสตชนแห่งเมืองบาร์เซโลน่าปกป้องเมืองนี้เยี่ยงวีรชนเป็นเวลา 3 ปี จนกระทั่งดูว่าต้องพ่ายแพ้แน่เพราะต่อต้านผู้บุกรุกไม่ไหว พวกเขาจึงตัดสินใจนำพระรูปไปซ่อนไว้ในที่ลับอย่างปลอดภัย ชายกลุ่มหนึ่งได้นำเอาพระรูปดังกล่าวออกมาอย่างเงียบๆโดยไม่มีผู้ใดทราบนอกจากท่านบิช็อปและผู้ว่าการแห่งเมืองแล้วนำไปไว้ที่มอนต์เซอรัต พวกเขาซ่อนเอาไว้ในถ้ำในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ.718 เรื่องราวทั้งสิ้นเกี่ยวกับต้นตอของรูปอัศจรรย์ เหตุแห่งการย้าย และสถานที่ซ่อนถูกบันทึกไว้ทั้งหมดและเก็บไว้ที่ห้องเก็บเอกสารของนครบาร์เซโลน่า
แม้สถานที่เก็บพระรูปในที่สุดจะถูกลืมกันไปแล้ว แต่ประชาชนแห่งนครบาร์เซโลน่าไม่เคยลืมพระรูปศักดิ์สิทธิ์นานนับเกือบ 200 ปี ต่อมาในปี ค.ศ. 890 เด็กเลี้ยงแกะจากมอนิสโตรล ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับเชิงเขามอนต์เซอรัตถูกส่งไปที่นั่น โดยบังเอิญซึ่งได้กลายเป็นต้นเหตุแห่งการพบขุมทรัพย์ ขณะที่เฝ้าฝูงแกะในคืนนั้นแด็กเลี้ยงแกะพากันตกใจที่เห็นแสงสว่างและได้ยินเสียงเพลงดังมาจากภูเขา เมื่อเสียงเพลงเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองพวกเขารายงานเหตุการณ์ไปให้คุณพ่อบาทหลวงของพวกเขาทราบ ซึ่งท่านก็รีบจัดการทันที เช่นเดียวกันคุณพ่อบาทหลวงก็ได้ยินเสียงเพลงดังกล่าวและแสงสว่างลึกลับด้วย ดังนั้นท่านจึงแจ้งให้บิช็อปทราบซึ่งก็ได้เห็นเป็นพยานในสิ่งเดียวกัน ในที่สุดพวกเขาก็พบรูปแม่พระในถ้ำและนำไปประดิษฐานไว้ในวัดแห่งหนึ่งซึ่งถูกสร้างขึ้นมาอย่างรวดเร็ว วัดน้อยนี้ต่อมาถูกพัฒนาขึ้นจนเป็นวัดในปัจจุบันซึ่งสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1592
เมื่อปี ค.ศ. 888 มีวัดน้อยอยู่แล้ววัดหนึ่งที่ถวายเป็นเกียรติแก่แม่พระ ซึ่งจุดนี้เองกลายเป็นสักการะสถานในปัจจุบัน ในที่สุดก็มีอารามฤษีเพิ่มขึ้นมาซึ่งเจริญเติบโตรวดเร็วมากเพราะอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นโดยแม่พระ ตามคำบอกเล่าของผู้ดูแลสักการะสถานรูปแม่พระถูกนำมาประดิษฐานในอารามฤษีในศตวรรษที่ 12 หรือ 13 รูปนี้อาจนำเอามาแทนรูปเก่าที่ถูกทำลายไปในสงครามหนึ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งในยุคนั้น
รูปดังกล่าวในท่านั่งแกะสลักจากไม้มีความสูงกว่า 3 ฟุตเล็กน้อย การแกะสลักเป็นไปในรูปแบบของโรมัน ทรวดทรงบางอ่อนช้อย ใบหน้าค่อนข้างยาว และมีใบหน้าที่แสดงถึงความละเอียดอ่อน ภูษาเป็นเสื้อคลุมปักดิ้นทองแบบเรียบง่าย ภายใต้มงกุฎมีผ้าคลุมประดับด้วยดาวพร้อมด้วยลวดลายสีอ่อนๆ พระหัตถ์ขวาของแม่พระถือรูปโลก พระหัตถ์ซ้ายยื่นออกไปข้างหน้าในอิริยาบทที่สวยงามสง่า พระกุมารประทับนั่งอยู่บนตักพระแม่สวมมงกุฎพร้อมเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงาม พระหัตถ์ขวาชูขึ้นในลักษณะอวยพร พระหัตถ์ซ้ายถืออะไรบางอย่างคล้ายกับผลลูกเฟอร์ มีหมอนเป็นที่รองพระบาทของพระแม่ซึ่งประทับอยู่บนบัลลังก์ พระรูปเป็นที่เคารพกันไม่เพียงแต่จะเป็นเสมือนขุมทรัพย์แห่งศรัทธาเท่านั้น แต่เพราะคุณค่าเชิงศิลปะด้วย พระรูปมีการปิดทองเกือบทั้งองค์ยกเว้นพระพักตร์และกรทั้งสองข้างทั้งแม่พระและพระกุมาร (รวมถึงพระบาทของพระองค์ด้วย) ซึ่งดูไม่เหมือนกับรูปแกะสลักเก่าๆซึ่งเป็นสีดำเพราะชนิดของเนื้อไม้หรือเป็นผลของสีดั้งเดิม แม่พระแห่งมอนต์เซอรัตเป็นสีดำเนื่องจากจำนวนเทียนและตะเกียงนับไม่ถ้วนที่ใช้ในการสักการะ เพราะสีดำนี่เองประชาชนจึงพากันนิยมเรียกรูปนี้ว่า “ลา โมเรเนตา – La Moreneta” แม่พระน้อยฉวีดำ ดังนั้นพระมารดาแห่งมอนต์เซอรัตจึงจัดให้อยู่ในประเภทแม่พระฉวีดำ
พระรูปนี้ประดิษฐานอยู่ในซุ้มหลังพระแท่นใหญ่ จะเข้าถึงได้ก็โดยไต่บันไดที่ด้านข้างวัด บันไดจะนำไปสู่ห้องโถงใหญ่ซึ่งอยู่ด้านหลังของพระรูป ห้องโถงนี้เรียกกันว่า “Camarin de La Virgen” หรือ “ห้องของพระแม่พรหมจารี” สามารถบรรจุคนจำนวนมากเพื่อไปสวดใกล้ๆบัลลังก์ของแม่พระ ผู้แสวงบุญไม่สามารถสัมผัสพระรูปได้ เนื่องจากพระรูปถูกล้อมด้วยกระจก แม้ว่าสักการะสถานนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนยอดเขาเฉกเช่นสักการะสถานที่ “Monte Cassino” และ “Le Puy” อารามนี้ก็ยังอยู่สูงพอจากอาณาบริเวณที่ทำให้คิดว่าน่าจะปลอดภัยจากการถูกโจมตี กระนั้นก็ตามอารามเสียหายมากเหมือนกันในช่วงที่ถูกทหารนะโปเลียนโจมตี ภัยพิบัติมาเยือนอีกครั้งสมัยสงครามกลางเมืองและการปฏิวัติ พระรูปพระมารดาและพระกุมารถูกนำไปซ่อนในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ภายหลังก็นำกลับไปประดิษฐานไว้ที่เดิมหลังจากซ่อมแซมวัดและอาคารต่างๆแล้ว ตึกเหล่านี้ไม่ได้รับความเสียหายในช่วงสงครามกลางเมืองในประเทศสเปนระหว่าง ค.ศ. 1936-1939 ที่ก่อโดยรัฐบาลกาตาโลเนีย
นักบวชคณะเบเนดิกตินมาตั้งรกรากอยู่ที่อารามนี้หลายร้อยปีมาแล้ว และยังคงดำเนินการอยู่และจัดหาที่พักให้กับผู้ที่เดินทางมาแสวงบุญ จำนวนเชิงประวัติศาสตร์ของผู้คนที่มาเยือนรวมถึงฤษีชื่อแยร์นา บัวล์ (Bernat Boil) ซึ่งเดินทางไปกับคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสสู่โลกใหม่ด้วยนั้นมีความยิ่งใหญ่มาก ดังนั้นท่านจึงเป็นธรรมทูตคนแรกที่เดินทางไปยังทวีปอเมริกา อธิการแรกๆองค์หนึ่งของมอนต์เซอรัต ต่อมากลายเป็นโป๊ปจูลิอุสที่ 2 (Julus II) ซึ่งเป็นพระสันตะปาปายุคที่ศิลปกรรมรุ่งเรือง และมีไมเกิ้ลอังเจโลทำงานอยู่ด้วย จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 และฟีลิปที่ 2 แห่งสเปนทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์โดยมือถือเทียนเสกจากสักการะสถาน กษัตริย์หลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสรับสั่งให้สวดภาวนาเป็นพิเศษ ณ มอนต์เซอรัตเพื่อพระราชินีเสด็จแม่ และจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ถวายเงินจำนวนมหาศาลให้กับอาราม กษัตริย์สเปนทุกพระองค์ไปภาวนาที่สักการะสถานเช่นเดียวกับพระคาร์ดินัลรอนกัลลีซึ่งต่อมาเป็นพระสันตะปาปายอห์นที่ 23
นักบุญบางองค์ที่ไปเยยี่ยมที่นั่นมีนักบุญ Peter Nolasco, St. Raymond of Penafort, St. Vincent Ferrer, St. Francis Bordia, St. Aloysius Gonzaga, St. Joseph Calasanctium, St. Anthony Mary Claret and St. Ignatius of Loyola ซึ่งฤษีคนหนึ่งทำพิธีให้นักบุญอิกญาซีโอเป็นอัศวิน หลังจากที่สวดภาวนาตลอดคืนหน้ารูปแม่พระแห่งมอนต์เซอรัต ท่านเริ่มต้นชีวิตใหม่ และสถาปนาคณะนักบวชเยซุอิต ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตรคือ “มาเรซา” ซึ่งเป็นสักการะสถานของคณะเยซุอิต สักการะสถานนี้มีถ้ำซึ่งนักบุญอิกญาซีอุสโลโยลา มักจะหลบจากโลกภายนอกเพื่อเขียนหนังสือชีวิตฝ่ายจิต
สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ทรงประกาศให้พระแม่พรหมจารีแห่งมอนต์เซอรัตเป็นองค์อุปถัมภ์ของสังฆมณฑลกาตาโลเนีย รูปพระแม่แห่งมอนต์เซอรัตเป็นรูปที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศสเปน
นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งเขียนว่า “ในทุกยุคทุกสมัยคนที่มีบาป คนที่เป็นทุกข์ คนที่มีความเศร้าเสียใจต่างเอาความเลวร้ายเหล่านี้ไปกองไว้ ณ แทบเท้าของพระแม่แห่งมอนต์เซอรัต และไม่มีผู้ใดเลยที่จะกลับไปแบบมือเปล่าโดยที่ไม่ได้รับฟังหรือไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพระแม่”
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – ยินดีนำเรื่องราวนี้มาแบ่งปัน เพื่อการไตร่ตรอง)