Skip to content

บทสัมภาษณ์แบบ “วงใน” จากสำนักข่าวเซนิท
เกี่ยวกับความเป็นไปได้ ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
น่าจะเยือนประเทศญี่ปุ่น
และอาจจะเยือนเกาหลีเหนือด้วย ใน ปี ค.ศ. 2019

เจ้าชายและเจ้าหญิงญี่ปุ่นกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

ซิสเตอร์มารีอา เดอ จอร์จิ (Maria De Giorgi)เป็นนักบวชธรรมทูตคณะซาเวเรียนได้อธิบายประวัติศาสตร์อันมั่งคั่งของพระศาสนจักรกับนักข่าวเซนิทในระหว่างการประชุมของ “กลุ่มชุมชนแห่งซานเอจิดิโอ”(Communita di Sant’Egidio) ภายใต้หัวข้อ “สะพานเพื่อสันติภาพ” ที่เมืองโบโลญ่า ประเทศอิตาลี

วันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 2018

“นี่เป็นรากเหง้าของพระศาสนจักรในประเทศญี่ปุ่น เป็นรากเหง้าที่คอยหล่อเลี้ยงการมีตัวตนของพระศาสนจักรที่ไม่ใช่เรื่องง่ายซึ่งยังคงหล่อเลี้ยงชีวิตและความหวังของพระศาสนจักรต่อไปในอนาคต”

ในการสัมภาษณ์เจาะลึกกับสำนักข่าวเซนิท ซิสเตอร์มารีอา เดอ จอร์จิ(Maria De Giorgi)นักบวชธรรมทูตคณะซาเวเรียนผู้เชี่ยวชาญการเสวนาระหว่างศาสนาแห่งศูนย์ “ชินเมอิซาน”(Shinmeizan) เพื่อการเสวนาระหว่างศาสนาในประเทศญี่ปุ่นกล่าวเช่นนี้โดยแบ่งปันประสบการณ์ของเธอเกี่ยวกับประเทศในทวีปเอเชีย

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสพร้อมกับปรากฏข่าวลือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเยือนประเทศเกาหลีเหนือของพระสันตะปาปา ซึ่งอาจจะต้องยืดเวลาออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสว่าพระองค์จะเสด็จไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2019เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับประเทศญี่ปุ่น

เราสนทนากับซิสเตอร์มารีอา เดอ จอร์จิ ที่เมืองโบโลญ่าประเทศอิตาลีในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการประชุมครั้งที่ 32 ในการสืบทอดจิตตารมณ์แห่งอัสซีซี ที่มีการประชุมกันระหว่างวันที่ 14-16ตุลาคม ค.ศ. 2018 การประชุมนี้เริ่มโดยนักบุญยอห์น ปอลที่ 2 พระสันตะปาปาดำเนินการต่อโดย “กลุ่มชุมชนซานเอจิดิโอ”(Community of Sant’Egidio)ซึ่งผู้แทนของวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนาต่างๆมาช่วยร่วมกันสร้าง “ สะพานแห่งสันติภาพ”  โอกาสนี้ซิสเตอร์ เดอ จอร์จิ เป็นคนหนึ่งที่เป็นผู้บรรยาย “ประเทศญี่ปุ่น: ศาสนาและคุณค่าแห่งชีวิต”

ซิสเตอร์มารีอา เดอ จอร์จินักเทวศาสตร์และนักวิชาการแห่งแนวความคิดด้านชีวิตจิตของญี่ปุ่นยังเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการของสภาบิชอปคาทอลิกแห่งประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวกับการเสวนาระหว่างศาสนาและเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกรโกเรียนที่กรุงโรมด้วย

ในการให้สัมภาษณ์เธอสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรในประเทศญี่ปุ่นและบรรดามรณะสักขีซึ่งเป็นสิ่งที่พระสันตะปาปาจะทรงเยือนที่นั้น ถ้าหากพระองค์จะทรงเสด็จไปเยือนในปี ค.ศ. 2019รวมถึงชุมชนคาทอลิกและการเสวนาระหว่างศาสนาต่อไปนี้เป็นคำสัมภาษณ์ของเรา:

***

นักข่าวเซนิท:พระสันตะปาปานักบุญ ยอห์น ปอลที่ 2 เป็นนักสร้างสะพานผู้ยิ่งใหญ่  วันที่ 22 ตุลาคม 2018 จะครบรอบ 40 ปีของการที่พระองค์ทรงได้รับการเลือกตั้งเป็นพระสันตะปาปา นักบุญยอห์น ปอลที่ 2 เป็นแบบฉบับในการสร้างสะพานแห่งสันติภาพ และการเสวนาสำหรับวันนี้ได้อย่างไร หลังจากที่มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลาที่ยาวนาน?

ซ. มารีอา เดอ จอร์จิ:ดิฉันเชื่อในแบบฉบับของนักบุญยอห์น ปอล ดุจผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์ซึ่งคงอยู่ถาวรและสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เรากล้าเลือกสิ่งที่ควรทำในวันนี้  ใน “ยุค” ของพระองค์แน่นอนว่าไม่ง่ายไปกว่ายุคปัจจุบัน หรือไม่มีการท้าทายที่ใหญ่กว่านี้ เพียงคิดแค่วิบัติสงครามโลกครั้งที่ 2 การบุกรุกโปแลนด์โดยนาซีและโซเวียตและทุกสิ่งที่สร้างความเสียหายให้กับโปแลนด์และโลกก็พอแล้ว  เราจะพบกับเสียงก้องกังวานเหล่านี้ได้ในหนังสือของพระองค์ “ความทรงจำและอัตตลักษณ์”(Memory and Identity)ซึ่งพระองค์ทรงสะท้อนให้เราเห็นถึงความเร้นลับแห่งความชั่วร้ายที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์  ส่วนหนังสือชื่อ “ความลึกลับในศตวรรษ ที่ 20 – บทสรุปแห่งศตวรรษและความรุนแรงที่สุดแห่งประวัติศาสตร์”เขียนโดย อี. เจ. อี. ฮ็อบ สวอร์น (Mystery that in the 20thCentury, “Brief century and the Most Violent of History”by E.J.E. Hobswarn) ชี้ให้เราเห็นถึงความเหี้ยมโหดที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน  เป็นการเพียงพอที่เพียงคิดถึงค่ายกักกันนรก ค่ายกูลักส์(Gulags)การฆ่าสังหารหมู่ ฯลฯ  ถึงกระนั้นยอห์น ปอลที่ 2 ก็ไม่เคยเสียความไว้วางใจในประวัติศาสตร์  ซึ่งพระองค์ทรงทราบและเชื่อว่าได้รับการชี้นำโดยพระเจ้า และในมนุษย์ซึ่งพระองค์ทรงตระหนักดีว่าเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า ซึ่งถูกสร้างขึ้นตามภาพลักษณ์ของพระองค์ และจากความเชื่อดุจศิลาที่พระองค์ทรงสอนเราด้วยวาจา ท่าที โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชีวิตของพระองค์ว่าในที่สุดแล้วความชั่วจะไม่มีวันที่จะชนะเราได้  เราจะไม่สามารถเข้าใจผลงานของยอห์น ปอลที่ 2ได้ ถ้าหากเราไม่คำนึงถึงความเชื่อของพระองค์ในพระเจ้าและในมนุษย์ซึ่งทำให้พระองค์ไม่เพียงแต่จะสามารถสร้างสะพานเท่านั้นแต่ยังสามารถทำลายกำแพงด้วย ทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกันหากเราต้องการทำลายกำแพงอย่างจริงจังเราไม่มีทางเลือกอื่น  โดยธรรมชาติมนุษย์เป็น “บุคคล”  เป็น “ความสัมพันธ์” ที่ถูกเรียกร้องให้มีชีวิตที่สมบูรณ์ในความรัก ซึ่งมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะทำให้สำเร็จลุล่วงไปได้  มนุษย์เพียงแต่สามารถที่จะเจริญเติบโตขึ้นในสันติภาพด้วยการค้นพบว่าเราเป็นชุมชนหนึ่งเดียวกัน มีต้นกำเนิดเดียวกัน มีเป้าหมายสุดท้ายเดียวกัน ซึ่งได้แก่พระเจ้า ดังที่เอกสารของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 “Nostra Aetateได้ระบุไว้  และนักบุญยอห์ ปอลที่ 2 ก็ทรงสอนเช่นเดียวกัน

นักข่าวเซนิท:เหตุใดจึงมีความสำคัญที่ต้องสร้างสะพานกับศาสนาอื่น?  เหตุใดการพบปะหารือกันจึงเป็นประโยชน์เฉกเช่นกลุ่มชุมชนซานเอจิดิโอกระทำ?

ซ. มารีอา เดอ จอร์จิ:ในเอกสาร“Nostra Aetateแห่งสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ยืนยันว่า “มนุษย์คาดหวังที่จะได้รับคำตอบจากศาสนาต่างๆเพื่อขจัดภัยร้ายต่างๆแห่งสภาพความเป็นมนุษย์ซึ่งทุกวันนี้และตลอดเวลาในอดีตสร้างความลำบากใจให้กับมนุษย์มากมาย เช่นความหมายและเป้าหมายแท้จริงแห่งชีวิต  ความดีความชั่ว ต้นตอและเป้าหมายของความเจ็บปวด ความทุกข์  วิธีที่จะมีความสุข  ความตาย  การพิพากษาและเหตูการณ์หลังความตาย และสุดท้ายคือพระธรรมล้ำลึกที่หยั่งไม่ถึงที่โอบล้อมการมีชีวิตของเราที่เราเกิดมาและที่ชีวิตของเราจะลงเอยในที่สุด”

มิติทางศาสนาเป็นองค์ประกอบภายในสำหรับมนุษย์  การดำรงอยู่ของศาสนาต่างๆเป็นข้อพิสูจน์ที่ไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้  มนุษย์ทุกคนไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ชอบต่างถูกเรียกร้องให้ต้องเผชิญหน้ากับตัวเอง กับการมีชีวิตของตนว่าเราเกิดมาจากไหนและเรากำลังจะไปไหน  “ในการเดินทางสู่ความบริบูรณ์แห่งการพบกับพระธรรมล้ำลึก คำตอบจากศาสนาต่างๆอย่างที่สภาสังคายนาระบุไว้นั้นไม่อาจที่จะถือเป็นเรื่องเล็กได้  ความจริงแล้วนี่คือ “ขุมทรัพย์”ที่สามารถนำมาแบ่งปันกันและสามารถช่วยให้เราเข้าใจพระธรรมล้ำลึกที่อยู่เหนือเหตุผลหรือความเข้าใจของเราได้  นี่เป็นเหตุผลที่การพบปะและการเสวนากับศาสนาอื่นเป็นพื้นฐานสำคัญซึ่งไม่ใช่เหตุบังเอิญที่พระสันตะปาปานักบุญเปาโลที่ 6ผู้ยิ่งใหญ่ในการเสวนา ตรัสว่า “บ่อเกิดเหนือธรรมชาติของการเสวนาพบได้ในพระประสงค์ของพระเจ้านั่นเอง” (EcclesiamSuam)

        ดิฉันชอบคิดถึงมงซินญอร์ปิเอโตร รอสซาโน(Pietro Rossano)ซึ่งท่านเป็นประกาศกและอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่เพียงใด  ท่านชอบย้ำเสมอว่า “การเสวนาระหว่างศาสนานั้นไม่มี มีแต่แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของศาสนาต่างๆต่างหากที่สำคัญ”  ประการแรกการเสวนาคือการพบปะกัน เจรจากัน เผชิญหน้ากันด้วยความซื่อสัตย์แล้วก็แบ่งปันกัน  คุณค่าอันยิ่งใหญ่แห่งการประชุมกลุ่มชุมชนซานเอจิดิโอ(Sant’Egidio)ก็คือประเด็นนี้แหละ  ในช่วง 30 ปีแห่งการเดินทางร่วมกัน ไม่ใช่ศาสนาที่ “ดำเนินการเสวนา”  แต่เป็นศาสนิกชายหญิงของศาสนาต่างๆที่พบปะกัน รู้จักกัน เผชิญหน้ากัน เรียนรู้ที่จะเข้าใจและรักกันท่ามกลางความแตกต่างซึ่งดิฉันสามารถเป็นประจักษ์พยานได้ในเรื่องนี้  ต้องขอบคุณความตั้งใจดีของกลุ่มชุมชนซานเอจิดิโอและ “จิตตารมณ์แห่งนักบุญฟรังซิส อัสซีซี” ที่ได้วางรากฐานมั่นคงและแน่นอนว่าจะต้องบังเกิดผล

นักข่าวเซนิท:อะไรคือสิ่งดีที่สุดที่ท่านได้จากการพบปะกัน? ท่านนำอะไรไปสู่การพบปะกัน หากท่านต้องมอบสาส์นสำคัญในการร่วมแบ่งปันของท่าน?

ซ. มารีอา เดอ จอร์จิ:อย่างที่ข้าพเจ้าพูดไปสั้นๆเมื่อสักครู่นี้ “ขุมทรัพย์” ยิ่งใหญ่ที่สุดของการพบปะกันเพื่อศาสนสัมพันธ์นี้เป็นการพบปะกันแบบส่วนตัวระหว่างบุคคลที่มีวัฒนธรรมและศาสนาต่างกัน เป็นความคุ้นเคยที่ต่างฝ่ายต่างได้รับประสบการณ์ เป็นความชื่นชมยินดีที่เห็นตัวเราแตกต่างกันแต่มีความใกล้ชิดกัน  เป็นการที่ได้พบเพื่อน พี่น้องซึ่งอยากที่จะแลกของขวัญและขยายมิติแห่ง “การเสวนา” โดยตั้งใจที่จะทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบของเราที่ทำการ ”เสวนา” เฉกเช่นที่พระสันตะปาปานักบุญเปาโลที่ 6ทรงกล่าวไว้นั้นจะกลายเป็นทัศนคติแห่งชีวิตจิตใจ เป็นวิธีธรรมตามธรรมชาติในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร เพื่อพูดถึงความแตกต่างและความยากลำบาก เพื่อที่จะมีความรับผิดชอบร่วมกันในการแสวงหาความดีส่วนรวม  ในทิศทางนี้แน่นอนว่ามีงานมากมายที่ต้องทำ แต่นักบุญยอห์น ปอลที่ 2 ทรงลิขิตไว้แล้วว่า “การเสวนาคือหนทางสู่พระอาณาจักรและแน่นอนว่าจะบังเกิดผล แม้วันเวลาจะถูกสงวนไว้สำหรับพระบิดาเจ้า” (RM 57)

นักข่าวเซนิท:บางคนคาดหวังว่าพระสันตะปาปาฟรังซิสจะเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2019ท่านคิดว่าอย่างไร?  ท่านคาดหวังอะไรจากการาเยือนดังกล่าว?

ซ. มารีอา เดอ จอร์จิ:ในฐานะธรรมทูตที่ดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นกว่า 30 ปีดิฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจะมาเยือนประเทศเรา  ความคิดสร้างสรรค์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสแน่นอนว่าอยู่เหนือความคาดคิดของเรา  ดิฉันทราบดีว่ามีคนเป็นอันมากที่อยากให้พระองค์เสด็จมาเยี่ยม  ญี่ปุ่นใช่ว่าจะมีชีวิตในช่วงที่ราบรื่นก็หาไม่  ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่โดยปรมาณูถล่มถึงสองครั้ง  หลายคนหวังที่จะได้ยินพระดำรัสและทีท่าเกี่ยวกับสันติภาพ ของพระองค์ การปฏิเสธอย่างรุนแรงจากการคุกคามด้วยระเบิดปรมาณูและการใช้ความรุนแรงทุกชนิด แล้วพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศญี่ปุ่นแม้จะมีจำนวนน้อยในประเทศที่ยิ่งใหญ่นี้แน่นอนว่าจะได้รับความบรรเทาใจและความตื่นเต้นจากการเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส  ขณะที่พระสันตะปาปานักบุญยอห์น ปอลที่ 2 เป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่เสด็จเยือนดินแดนแห่งอาทิตย์อุไร การเยือนของพระองค์มีผลดีมากต่อชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักรในประเทศญี่ปุ่นอย่างมากดิฉันมั่นใจว่าการเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสจะได้ผลดีไม่น้อยกว่าเดิม

นักข่าวเซนิท:สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสจะทรงพบอะไรบ้างในประเทศญี่ปุ่น? เราจะสังเกตเห็นความเชื่อคาทอลิกที่นั่นได้อย่างไร?  โปรดอธิบายให้เราทราบอะไรบางอย่างเกี่ยวกับชุมชนคาทอลิก?

ซ. มารีอา เดอ จอร์จิ:พระสันตะปาปาฟรังซิสจะทรงพบกับประเทศที่ดำเนินชีวิตท่ามกลางความขัดแย้งร่วมสมัยหลายอย่าง  เป็นการยากที่จะสรุปด้วยคำพูดเพียงไม่กี่คำถึงสภาพของพระศาสนจักรคาทอลิกญี่ปุ่นซึ่งเป็นทาญาติแห่งประวัติศาสตร์ของบรรดามรณะสักขีและชนกลุ่มน้อย แต่ก็เป็นกลุ่มวีรชนที่แฝงอยู่ด้วย

พระศาสนจักรคาทอลิกเป็นชนกลุ่มน้อย ประมาณ 450,000คน และมีจำนวนอีกพอๆกันหรืออาจมากกว่านั้นที่เป็นผู้อพยพย้ายถิ่นจากฟิลิปปินส์ อเมริกาใต้ และประเทศอื่นๆที่กระจายไปทั่วท่ามกลางประชากรญี่ปุ่น 127ล้านคน  การท้าทายที่ชุมชนนี้ต้องจัดการในตอนนี้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่เป็นโลกียวิสัยรุนแรงขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกศาสนาพร้อมกับการนำมาซึ่งอะไรที่เรียกกันว่า “ซูเกียว บานาเร”(shukyobanare)หรือ “ความคิดที่เปลี่ยนไปและความไม่เป็นที่พึงพอใจ” ในศาสนา เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดกับทุกศาสนาในประเทศนี้แม้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน  ที่มากไปกว่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมญี่ปุ่นทั่วไปและที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นก็คือรวมไปถึงพระศาสนจักรคาทอลิกด้วย

นักข่าวเซนิท:ความสัมพันธ์กับคนต่างศาสนาเป็นอย่างไรบ้าง?  เราทราบว่าคาทอลิกมีจำนวนแค่หยิบมือ…

ซ. มารีอา เดอ จอร์จิ:ณ ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิกในญี่ปุ่นกับสมาชิกของศาสนาอื่นๆอยู่ในขั้นดี ไม่ว่าจะเป็นในระดับศาสนิกสัมพันธ์และในระดับศาสนาต่างๆการนับถือศาสนาในญี่ปุ่นมีความสลับซับซ้อนหลากหลายรูปแบบ นอกจากศาสนาชินโตซึ่งเป็นศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมแล้ว เรายังมีศาสนาพุทธรูปแบบต่างๆและอะไรที่เรียกกันว่าศาสนาใหม่ด้วย  สำหรับศาสนาคริสต์นอกเหนือจากพระศาสนจักรคาทอลิกแล้วเรายังมีคริสตจักรออร์ธอด็อกซ์ อังกลีกัน และโปรเตสแตนต์

ดิฉันอยากจะพูดว่าในเรื่องราวต่างๆความสัมพันธ์กับลัทธิหรือนิกายเหล่านี้จะเป็นไปในเชิงบวก มีขั้นตอนที่สังเกตได้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นในระดับความเป็นหนึ่งเดียวกันหรือในระดับศาสนิกสัมพันธ์  มีความคิดริเริ่มที่ดีหลายอย่างและมีหลายองค์กรที่พยายามส่งเสริมการเสวนาระหว่างศาสนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับรากหญ้าและในระดับสถาบัน  ภายใต้สภาบิชอปของญี่ปุ่นมีคณะอนุกรรมการเพื่อศาสนสัมพันธ์และเพื่อส่งเสริมการเสวนาและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของคริสตชนซึ่งทำงานมาหลายปีแล้วเพื่อส่งเสริมการเสวนาและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน

        ในบรรดาเหตุการณ์ระดับชาติที่แสดงให้เห็นบรรยากาศดังกล่าวนั้น เราอาจเอ่ยถึงอะไรที่เรียกกันว่า “Summit of Religion หรือ การประชุมสุดยอดของศาสนา” ซึ่งจัดโดยพุทธศาสนาลัทธิเท็นได(Tendai)ทุกปีบนเขาฮิเออิ (Mount Hiei)นครเกียวโต ซึ่งมีโครงการคล้ายกันกับที่กลุ่มชุมชนซานเอจิดิโอกระทำในยุโรป

นักข่าวเซนิท:การเยือนประเทศญี่ปุ่นของสมเด็จพระสันตะปาปาจะนำมาซึ่งความชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อของบรรดาคริสตชนชาวญี่ปุ่นที่เป็นมรณะสักขีประวัติศาสตร์หน้านื้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้มีการสร้างภาพยนตร์ขึ้น  เหตุใดประวัติศาสตร์หน้านี้จึงสมควรที่จะให้คนที่อยู่นอกประเทศญี่ปุ่นทราบด้วย… เกี่ยวกับบรรดามรณะสักขีเหล่านี้?

ซ. มารีอา เดอ จอร์จิ:ประเทศญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์น่าชื่นชมยาวนานเกี่ยวกับมรณะสักขึ หลังจากความสำเร็จอันรวดเร็วของการประกาศพระวรสารครั้งแรกโดยนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ในปี ค.ศ. 1549และยืดยาวต่อไปอีกกว่า 50 ปีโดยปราศจากความยุ่งยากลำบากใดๆ การเบียดศาสนาก็ระอุขึ้นในชุมชนคริสต์ใหม่อย่างโหดเหี้ยมชนิดที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน  มรณะสักขีรุ่นแรกคือบาทหลวงเยซุอิต ฟรังซิสกัน และฟังซิสกันชั้นที่สาม ซึ่งในบรรดามรณะสักขีเหล่านั้นบางคนยังเด็กมาก พวกเขาถูกตรึงบนไม้กางเขนที่นางาซากิวันทื่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1597และได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศีโดยพระสันตะปาปาอูร์บาโนที่ 8ในปี ค.ศ.1627และได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9ในปี ค.ศ.  1862

ระหว่างปี ค.ศ. 1617 – 1632มีการเบียดเบียนศาสนาหนักขึ้น  มีคริสตชน 265คน ทั้งผู้ดีมีสกุล ประชาชนคนธรรมดา ทั้งชาย หญิง และเด็ก ทั้งพ่อและแม่ของครอบครัว บาทหลวง และนักบวชต้องทนทุกข์มากในการเป็นมรณะสักขี  บางคนถูกมัดติดกับเสาแล้วใช้ไฟเผาแบบช้าๆ บ้างก็ถูกตัดศีรษะ หรือถูกตัดแข้งตัดขา แล้วเอาศพไปทิ้งกระจายทั่วไปเพื่อกันมิให้คนเก็บไปสร้างศรัทธา  พระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ทรงสถาปนาเขาเหล่านั้นเป็นบุญราศีวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1867

นอกนั้นเรายังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่สังกัดอยู่กับคณะนักบุญโดมินิก (บาทหลวง นักบวช พรหมจารีผู้ถวายตัว ฆราวาสชาย และชนชาติต่างๆซึ่งในจำนวนนี้มีชาวญี่ปุ่นอยู่ 9 คน) ที่ถูกสังหารระหว่างปี ค.ศ. 1633-1637หลังจากที่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์พระวรสารในประเทศฟิลิปปินส์ ไต้หวัน (ฟอร์โมซา) และญี่ปุ่น เขาเหล่านี้ได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศีที่กรุงมานิลาโดยนักบุญยอห์น ปอลที่ 2ในปี ค.ศ. 1981และได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญที่กรุงโรมในปี ค.ศ. 1987มรณะสักขีอีก 188คนได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศีที่เมืองนางาซากิในปี ค.ศ. 2008ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีตระกูลขุนนางชื่อว่า   ดอม ยูสตอง ทากายาม่า อูก็อน(Dom Juston Takayama Ukon)ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศีที่นครโอซากาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ค.ศ. 2017

นอกเหนือจากมรณะสักขีเหล่านี้ที่ยอมพลีฃีพเพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อของตนแล้ว ยังมีคริสตชนอีกนับพันนับหมื่นคนที่เป็นประจักษ์พยานต่อความเชื่อของตนในพระคริสตเจ้าด้วยเลือด  เป็นประวัติศาสตร์รุ่งโรจน์ที่น่าจะทำให้เป็นที่รู้จักกันมากกว่านี้ไม่เพียงแต่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เนื่องจากการเบียดเบียนที่ทำกันอย่างเป็นระบบเป็นเวลายาวนานและเปี่ยมไปด้วยพลีเลือดนี้ คริสตชนที่รอดชีวิตเหลือไม่กี่คนจึงหนีไปอยู่ในที่ไกลๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาะเล็กๆนอกฝั่งเมืองนางาซากิ (เรียกกันว่า “kakure Christian” หรือ “คริสตชนใต้ดิน” ซึ่งทำให้พวกเขารอดตาย มีการถ่ายทอดความเชื่อและโปรดศีลล้างบาปโดยปราศจากซึ่งบาทหลวงหรือผู้อภิบาลใดๆนับเป็นเวลาหลายชั่วอายุคนจนกระทั่งปี ค.ศ. 1865เมื่อธรรมทูตจากยุโรปสามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้  แต่ถึงกระนั้นก็ตามเมื่อคุณพ่อแบร์นาร์ด เปอโตฌ็อง(Bernard Petotjean) บาทหลวงมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเผยตนเองเป็นธรรมทูต การเบียดเบียนระลอกใหม่ก็เกิดขึ้นอีก  ในปี ค.ศ. 1872อาศัยแรงกดดันจากนานาชาติจึงทำให้โทษประหารสำหรับคริสตขนในประเทศญี่ปุ่นถูกยกเลิกไปอย่างเด็ดขาด

นี่คือรากเหง้าของพระศาสนจักรในญี่ปุ่น เป็นรากเหง้าที่แตกหน่อเติบโตขึ้นด้วยความยากลำบาก แต่ก็ยังสามารถเลี้ยงดูตนเองได้พร้อมกับมีความหวังในอนาคต

***

ต่อไปนี้เป็นข้อความส่วนหนึ่งในการบรรยายของซิสเตอร์ มารีอา เดอ จอร์จิเกี่ยวกับพระศาสนจักรประเทศญี่ปุ่นซึ่งกลุ่มชุมชนซานเอจิดิโอจัดพิมพ์ลงบนเว็บไซต์:

ประทศญี่ปุ่น เรื่องของศาสนาและคุณค่าแห่งชีวิต ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่ามีความหมายยิ่งใหญ่เป็นพิเศษสำหรับชาวญี่ปุ่นในทุกวันนี้  ความจริงแล้วการเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เรื่องธรรมชาติและชีวิตสามารถถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษแห่งวัฒนธรรมชาวญี่ปุ่น ซึ่งเราสามารถเห็นและเข้าใจได้ในธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติต่างๆของศาสนา เมื่อข้าพเจ้าเดินทางไปถึงประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1985 ข้าพเจ้าต้องตลึงกับมิติแห่งวัฒนธรรมดังกล่าว

แต่น่าเสียดาย เมื่อเวลาผ่านไปข้าพเจ้าต้องหวนกลับมาพิจารณาว่าการพัฒนาสมัยใหม่ซึ่งค่อยๆสร้างความอ่อนแอให้กับทัศนคติดั้งเดิมนี้อย่างไรพร้อมทั้งส่งผลเชิงลบให้กับความสัมพันธ์มนุษย์ด้วย  ในหัวเมืองใหญ่ๆซึ่งชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ชอบใช้ชีวิตไม่เพียงแต่จะขาดการสัมผัสกับธรรมชาติเท่านั้นแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ยังถูกคุกคามด้วยลัทธิบริโภคนิยมที่มุ่งเอาแต่กำไรเป็นที่ตั้ง ปล่อยปะละเลยคุณค่าของวัฒนธรรมและศาสนาซึ่งพอนานหลายศตวรรษเป็นตัวหล่อเลี้ยงจิตใจของชาวญี่ปุ่น  ที่เชื่อมโยงกันกับแนวโน้มนี้คือปรากฏการณ์เสื่อมถอย ที่สลับซับซ้อนในระดับรากเหง้าที่เรียกกันว่า “shukyobanare” หรือการไม่สนใจและการถอยห่างออกจากชีวิตศาสนาเรากำลังตกอยู่ในยุคที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนในระดับรากหญ้าซึ่งเราจะพบได้ไม่เพียงแต่การปฏิเสธศาสนาอย่างโจ่งแจ้งเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับความไม่รู้ไม่สนใจในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาและคุณค่าที่ศาสนานำเสนออีกด้วย

กว่า 50ปีแล้วที่มีการประกาศเอกสาร“Nostra Aetate”แห่งสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิกกับผู้ที่นับถือศาสนาอื่นซึ่งยืนยันว่า “มนุษย์คาดหวังคำตอบจากศาสนาต่างๆเรื่องปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเกี่ยวกับสภาพมนุษย์ ซึ่งในทุกวันนี้และแม้ในยุคก่อนรบกวนจิตใจมนุษย์เป็นอย่างมากในประเด็นที่ว่า มนุษย์เป็นใคร?  ความหมายของมนุษย์คืออะไร?  เป้าหมายของชีวิตคืออะไร?  ความดีเชิงศีลธรรมคืออะไร?  บาปคืออะไร?  ความทุกข์เกิดจากอะไรและเป้าหมายของคืออะไร?  หนทางไหนเป็นหนทางที่นำไปสู่ความสุข?  ความตาย การพิพากษา และผลชีวิตหลังความตายเป็นอะไร?  สุดท้าย เราเกิดมาจากไหน และเรากำลังจะไปไหน?”

ทุกวันนี้เราต้องถามตัวเองว่าปัญหาเหล่านี้สะกิดและกระตุ้นหัวใจของบรรดาชายหญิงร่วมสมัยของเราและศาสนาจะให้คำตอบที่สำคัญน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน  ที่จริงทุกศาสนาไม่ใช่เฉพาะแต่ในประเทศญี่ปุ่นต่างกำลังเผชิญอยู่กับสภาพที่เกิดขึ้นโดยอะไรที่เรียกกันว่า “shukyobanare” และถูกเรียกร้องให้มอบคุณค่ายิ่งใหญ่ที่เป็นมรดกตกทอดให้แก่โลกด้วยใจกว้างและกล้าหาญ เป็นคุณค่าแต่อย่างเดียวที่จะให้ความหมายและทอดแสงสว่างให้กับ “ปัญหาที่แก้ไม่ตกแห่งสภาพชีวิตมนุษย์”  นี่คือการท้าทายที่ยิ่งใหญ่เร่งด่วนสำหรับบรรดาศาสนิกของทุกศาสนาในทุกวันนี้  เป็นการท้าทายสำหรับทุกคนและทุกศาสนาซึ่งถูกเรียกร้องให้ต้องตอบและเป็นประจักษ์พยานต่อคุณค่าเหล่านั้นด้วยการเสวนาระหว่างศาสนาและการร่วมมือกัน

เมื่อหวนกลับมายังหัวข้อที่เราถกกัน: ประเทศญี่ปุ่น ศาสนาและคุณค่าชีวิตมนุษย์ เมื่อเรานำมาพิจารณาโดยมองในแง่บวกจากทัศนวิสัยของพระศาสนจักรในประเทศญี่ปุ่น ข้าพเจ้าไม่อาจลืมเอกสารสำคัญของสภาบิชอปคาทอลิกแห่งประเทศญี่ปุ่นซึ่งพิมพ์ออกเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2001 และพิมพ์ขึ้นใหม่เมื่อเร็วๆนี้ด้วยฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 2017ภายใต้หัวข้อว่า “อีโนชิ เอ โน มานาซาชิ”(Inochi e no manazashi)คือ “การหันสายตาไปยังชีวิต”

ในเอกสารฉบับปี ค.ศ. 2001 ซึ่งพิมพ์ทันทีหลัง “ปีปิติมหาการุญ ค.ศ. 2000”บรรดาบิชอปแห่งญี่ปุ่นต้องการมอบสาส์นแห่งความหวังไปยังสังคมญี่ปุ่นที่กำลังย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21ดังที่เราจะเห็นได้จากบทนำที่เขียนโดยอาร์ชบิชอป ชิมาโมโต คานาเม่ (Shimamoto Kaname)แห่งอัครสังฆมณฑลนางาซากิที่เป็นประธานสภาบิชอปในสมัยนั้น ท่านเขียนว่า “ทุกวันนี้สังคมญี่ปุ่นมีแต่ความร้อนใจและความเศร้า เศรษฐกิจคงที่เพราะการล่มสายของ “เศรษฐกิจฟองสบู่”  ความสัมพันธ์ในครอบครัวอ่อนแอลงมีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน  มีอาชญากรรมจากเด็กมากมาย   มีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากประชาชนกลางและสูงอายุ จนทำให้หลายคนคิดว่าไม่มีคำตอบจากการแสวงหาความสว่างและความช่วยเหลือใดๆ  แต่พระเจ้าทรงสร้างและรักมนุษย์ ชีวิตมนุษย์ ชีวิตที่พระเจ้าประทานให้เป็นของขวัญสำหรับเราแต่ละคนนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  นั่นคือเหตุผลหลักที่สภาบิชอปคาทอลิกแห่งญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะมอบสาส์นนี้เกี่ยวกับชีวิตและความเป็นมนุษย์ให้กับโลก […]   หวังว่าการไตร่ตรองของเราจะให้ความหวังและความกล้าหาญให้กับบรรดาพี่น้องชายหญิงของเราทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น เราอธิษฐานวอนพระเจ้าได้โปรดประทานพระเมตตาให้กับสิ่งสร้างทั้งปวงโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับประชาชนชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ที่เรามอบสาส์นนี้ให้”

อันที่จริงเอกสารฉบับนี้ในขณะที่พูดถึงปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่กับสังคมชาวญี่ปุ่นอยู่นั้นซึ่งได้แก่สภาพวิกฤตของครอบครัว  การฆ่าตัวตาย การทำแท้ง การุญพิฆาต การคุกคามระบบนิเวศน์ ฯลฯ ล้วนเป็นสาส์นแห่งความหวัง  รากเหง้าแห่งสาส์นนี้หยั่งรากลึกในความเชื่อทางศาสนาที่ว่าชีวิตมาจากพระเจ้าผู้ทรงเป็นบิดาพระทัยดีและทรงรักสิ่งสร้างของพระองค์  สาส์นแห่งสภาบิชอปแห่งญี่ปุ่นเตือนเราว่า เราต้องการแสงสว่างจาพระวาจาของพระองค์ เพื่อที่จะเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์และของทุกชีวิต

เมื่อเราทราบกันดีถึงความซับซ้อนของปัญหาและข้อจำกัดอันหลีกเลี่ยงมิได้แห่งการไตร่ตรอง บรรดาบิชอปจึงสรุปสาส์นดังกล่าวไว้ดังนี้ “นี่เป็นครั้งแรกที่เราบรรดาบิชอปชาวญี่ปุ่นเตรียมสาส์นไม่ใช่เพื่อคาทอลิกแต่อย่างเดียว แต่เพื่อสังคมชาวญี่ปุ่นทั้งมวล  บุคคลที่อ่านอาจพบจุดที่ตนไม่พอใจและพบจุดที่พวกเขาบ่น […]  เราเชื่อว่ากระแสเรียกของเราในฐานะที่เป็นนายชุมพาบาลเรียกร้องให้เรา ขอร้องประชาชนให้เข้าใจท่าทีของมนุษย์ต่อชีวิตโดยอาศัยแสงสว่างของพระเจ้า”  เอกสารฉบับที่สองที่พิมพ์ขึ้นหลังเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในต้นศตวรรษนี้ นั่นคือ การก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นในโลก และในญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2011 เป็นเหตุให้ภูเขาฟูกูชิม่า(Fukushima)ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่ถูกระเบิดปรมาณูถล่มเกิดหิมะละลาย และยังมีแผ่นดินไหวอีกครั้งหนึ่งที่เมืองกูมาโมโต(Kumamoto)ในปี ค.ศ. 2012บางอย่างก็เป็นสิ่งคุกคามชีวิตอย่างยาวนาน เช่นอาวุธนิวเคลียร์  การทดลองตัวอ่อน และโทษประหารชีวิตเป็นต้น  ในสมณสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสที่ชื่อ “Laudato Si””  มีการพูดกันมากมายเกี่ยวกับปัญหา ระบบนิเวศน์ การทำลายธรรมชาติ การปกป้อง “บ้านร่วม” ของเราซึ่งได้แก่โลก  สุดท้ายบรรดาบิชอปได้วิงวอนพระเมตตาของพระเจ้าโปรดทอดพระเนตรมายังสิ่งสร้างของพระองค์ให้กลายเป็นหนทางที่เรามองสิ่งสร้างเหล่านั้น

ความคิดริเริ่มอีกประการหนึ่งของพระศาสนจักรคาทอลิกในญี่ปุ่นคือการปกป้องคุ้มครองชีวิตโดยจัดให้การประชุมทุกปีซึ่งดำเนินโดยคณะอนุกรรมการภายใต้สภาบิชอปซึ่งทำหน้าที่ด้านการเสวนาระหว่างศาสนาโดยเชิญผู้แทนศาสนาต่างๆในประเทศญี่ปุ่นให้เข้าร่วมประชุม เช่นศาสนาชินโต ศาสนาพุทธ รวมถึงศาสนาใหม่ๆ เช่น เท็นริเกียว (Tenrikyo)และ ริชโชโกไซไก(Risshokoseikai)เพื่อปรึกษาไตร่ตรองร่วมกันในบริบทของการเสวนาระหว่างศาสนาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆที่เชื่อมโยงกันกับการปกป้องคุ้มครองชีวิต

ตรงนี้ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะเอ่ยถึงการประชุมในปี ค.ศ. 2013เกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตาย และการประชุมในปี ค.ศ. 2014เกี่ยวกับการชะลอการมีบุตรและปัญหาเรื่องคนชราที่เพิ่มขึ้น ส่วนการประชุมในปี ค.ศ. 2017นั้นเกี่ยวกับปัญหาของเยาวชนในยุคนี้  ข้าพเจ้าไม่สามารถนำมาสรุปในที่นี้ได้ถึงความมั่งคั่งที่ผู้แทนศาสนาต่างๆนำมากล่าวในการเสวนาได้  เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นถึงเหตุผลทื่ทำให้พระศาสนจักรคาทอลิกส่งเสริมความคิดริเริ่มเหล่านี้  “เหตุผล” เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงพระธรรมคำสอนพื้นฐานแห่งความเชื่อคาทอลิก

ประการแรกคือความเชื่อมั่นล้ำลึกที่มีรากเหง้าอยู่ในความเชื่อคาทอลิกที่ว่าชีวิตทุกรูปแบบเป็นของขวัญจากพระเจ้า ถูกสร้างขึ้นโดยพระองค์ ได้รับความรักจากพระองค์ และเราอาจกล่าวได้ว่าชีวิตมนุษย์เป็นยอดสูงสุดของปิรามิด เป็นมงกุฎแห่งสิ่งสร้างทั้งปวง

ประการที่สองพระธรรมล้ำลึกที่เป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อคริสตชนคือ “การประสูติมาของพระผู้ไถ่” พระบุตรของพระเจ้าหรือพระเจ้าเสด็จมาเป็นมนุษย์ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ทรงรับสภาพมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและความศักดิ์สิทธิ์สูงสุด

ประการที่สามคริสตชนเชื่อว่าชีวิตมนุษย์ไม่ได้จบลงพร้อมกับความตายแต่ถูกกำหนดให้กลับฟื้นชีพขึ้นมาใหม่และมีชีวิตนิรันดรกับพระเจ้า

พระศาสนจักรคาทอลิกในญี่ปุ่นปกป้องความเชื่อเหล่านี้อย่างหวงแหนโดยมีรากเหง้าอยู่ที่ความเชื่อในองค์พระเยซูคริสตเจ้า และประรถนาที่จะแบ่งปันความเชื่อเหล่านั้นกับทุกคนในฐานะที่เป็นข่าวดีน่าชิ่นชมแห่งการไขแสดงของพระเจ้าเกี่ยวกับชีวิต และในฐานะที่เป็นหน้าที่ทางศาสนาที่จะต้องปกป้องชีวิตในทุกรูปแบบ

ความเชื่อคริสตชนนี้ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วยจนทำให้พระศาสนจักรมีจุดยืนในประเด็นที่เป็นรูปธรรมต่างๆที่มีการถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ในญี่ปุ่นซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าชีวิตมนุษย์ที่เป็นมิติที่หนักหน่วงที่สุดในสังคม  เพราะฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไปกระทบปฏิกิริยาเชิงลบทางการเมืองด้วย เฉกเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

  1. การพิทักษ์สิ่งสร้าง หรือ “การเอาใจใส่ดูแลบ้านร่วมของเราซึ่งได้แก่โลก” ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเรียกร้องในสมณสาส์น ‘Laudato Si’” (ค.ศ. 2015) ซึ่งพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงปี ค.ศ. 2017
  2. การให้ความเคารพต่อชีวิตเป็นสิ่งที่อยู๋ตรงกันข้ามกับกับการุญฆาตที่มีการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและการยอมรับiรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า “อันรากูชิ”(anrakushi)ซึ่งบางครั้งหันไปใช้การุญฆาต บัดนี้ทัศนคติพื้นฐานในบางสถาบันที่ผู้คนพากันเรียกว่า “อากาจัง ซอสโต”(akachan-sosto) คือ “บ้านของเด็กที่ไม่มีใครต้องการ” อย่างเช่นในกรณีของโรงพยาบาลจิเคอิ(Jikei)ที่เมืองกุมาโมโต(Kumamoto)และบ้านพักคนป่วยวาระสุดท้าย เช่นมิโกโกโร เบียวอิน(MikokoroByoin) คือโรงพยาบาลลพระหฤทัย ซึ่งอยู่ที่เมืองกุมาโมโต(Kumamoto)เช่นเดียวกัน
  3. การมีส่วนร่วมของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศญี่ปุ่นในการรณรงค์ที่ดำเนินโดยหลายองค์กร (ซึ่งหนึ่งในนั้นมีกลุ่มชุมชนซานเอจิดิโออยู่ด้วย) ที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศญี่ปุ่น
  4. การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในองค์กรศาสนาต่างๆเพื่อดำรงไว้ซึ่งมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งประเทศญี่ปุ่นห้ามจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยการทำสงครามโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการอาวุธปรมาณู ในการสรุปข้าพเจ้าอยากจะเน้นอีกครั้งหนึ่งถึงความจริงที่ว่าโลกเรากำลังเสื่อมโทรมโดยอะไรที่เรียกกันว่า “ชูเกียว บานาเร”(shukyo-banare)คือปรากฏการณ์ของการอยู่นิ่งเฉยและไม่สนใจใยดีต่อศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดว่า พวกเขาต่างปกป้องและถ่ายทอดศาสนาและคุณค่าอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและจะขาดเสียมิได้เพื่อสนับสนุนและปกป้องคุณค่าของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตมนุษย์พร้อมกับความหมายสูงสุดและความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต

 

นี่คือเหตุผลที่การปกป้องและการส่งเสริมชีวิตต้องเป็นความสำคัญอันดับแรกในการเสวนาระหว่างศาสนาและการร่วมมือกัน  เราแต่ละคนและทุกคนล้วนมีรากเหง้าหยั่งรากลึกในความเชื่อในศาสนาของตน แม้ในประเทศญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน  ดังนั้นเราต้องร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกันในการปกป้องคุ้มครองชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตมนุษย์ให้พ้นจากการคุกคามทั้งปวง ขอให้ข้าพเจ้าจบลงด้วยการอ้างถึงภาษิตญี่ปุ่นภาษิตหนึ่งซึ่งไม่อาจที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ “อีกีรุ โตว่ะ อีกะซาเรเต อีรุ โกโต เดส” (Ikiru to wa, ikasareteirukotodesu)ตามอักขระอักษรแปลว่า“การดำเนินชีวิตคือการต้องทำให้มีชีวิต”  ชีวิตเป็นของขวัญประเสริฐที่เราได้รับเพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติของชีวิต ต้องมุ่งชี้ไปยังมิติศาสนา ซึ่งเป็นของขวัญล้ำค่าที่เราทุกคนถูกเรียกร้องให้ช่วยกันคุ้มครองและปกป้องด้วยกัน

 

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทสัมภาษณ์นี้มาเพื่อการไตร่ตรอง)