ประสบการณ์การเดินทางร่วมกับเยาวชนปกาเกอะญอกระชับความสัมพันธ์กับเยาวชนลักเซมเบิร์กและร่วมงานเยาวชนโลกที่โปแลนด์
การเดินทางตั้งแต่ วันที่ 9 ก.ค. 3 ส.ค. 59 สมาชิก 28 คน (บาทหลวง 3 ซิสเตอร์ 5 ที่เหลือเป็นสามเณรบ้าง เยาวชนบ้างและแม่เยาวชนบ้างคละกันไป)
เดินทางออกจากเชียงใหม่วันที่ 9 ก.ค. เวลา 16.00 น. เพื่อขึ้นเครื่องไปกรุงเทพ จากนั้นรอขึ้นเครื่องที่สุวรรณภูมิวันที่ 10 ก.ค. เวลา 02.05 น. เพื่อบินไปที่โดฮาประเทศกาตาร์ จากรุงเทพไปโดฮาประมาณ 7 ชั่วโมง ต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่โอฮาอีกกว่า 5 ชั่วโมง(เนื่องจากเครื่องมีปัญหา) บินจากโดฮาไปที่บรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยมอีกประมาณ 6 ชั่วโมง จากบรัสเซลล์นั่งรถทัวร์ไปลักเซมเบิร์กอีก 2 ชั่วโมงครึ่ง สรุปแล้วเดินทางขาไปใช้เวลากว่า 28 ชั่วโมง (เหนื่อย)
ไปถึงลักเซมเบิร์กทุกคนก็แยกย้ายกันไปอยู่ตามบ้านต่าง ๆ เกือบจะทั่วประเทศลักเซมเบิร์กเลยทีเดียว เพราะประเทศลักเซมเบิร์กเล็กกว่าจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ 2,587 ตารางกิโลเมตร ปกครองด้วยระบบกษัตริย์ ใช้ภาษา ลักเซมเบิร์ก เยอรมัน และฝรั่งเศส
สรุปสัปดาห์ที่อยู่ที่ลักเซมเบิร์กคือ
ทุกเช้าเราจะรวมกันที่สถานีรถไฟ อยู่กลางเมืองการเดินทางสะดวกไม่ว่าไปเหนือ ล่องใต้ ตะวันออก ตะวันตก และทุกวันจะมีตารางคร่าว ๆ ให้เราไปตามสถานที่ต่าง ๆ พร้อมกับเยาวชนลักเซมเบิร์กจำนวนหนึ่ง เป็นการเรียนรู้ประเทศของเขาและได้ท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ อาราม วัด สถานที่สำคัญ (โรงงานถลุงเหล็ก โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ งานบวชสังฆานุกร)
วันที่ 11 ก.ค.59
ไปที่เมืองตรีเอร์ (Trier) อยู่ประเทศเยอรมัน มีวัดคาทอลิกเก่าแก่ที่สุดและมีอาสนวิหารหลังแรกใน โรมันคาทอลิก ในยุคของ คอนสแตนติน มีบิชอปมาตั้งแต่ ค.ศ. 250 แล้ว
วันที่ 12 ก.ค. 59
วันนี้ไปที่อารามซิสเตอร์คณะผู้รับใช้พระเยซูเจ้าและพระม่มารีย์แห่ง กาตารา คณะนี้มาจากอาร์เจนตินา มาอยู่ที่ลักเซมเบิร์กใช้อารามของคาร์แมล์ไลท์ และอยู่ด้วยกันสองกลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งเป็นแบบชีลับ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นซิสเตอร์ทำงานข้างนอกทั่วไป (เป็นคณะเดียวกัน แต่งชุดเหมือนกัน) เราใช้เวลาที่นี่เกือบตลอดวัน ร่วมสวดภาวนา เฝ้าศีล มิสซา)
วันที่ 13 ก.ค. 59
วันนี้เป็นการเที่ยวชมเมืองและอาสนวิหารของลักเซมเบิร์ก แต่ผมแยกตัวไปพบกับอุปมุขนายกที่นั่น ได้พูดคุยกันทั่วไป เกี่ยวกับสถานการณ์ทางศาสนาและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ท่านได้บอกว่าวันนี้ที่รัฐสภาจะมีการโหวตเรื่องกฎหมายที่จะไม่ช่วยเหลือพระศาสนจักรอีก ถ้าผ่านก็หมายความว่า จากนี้ไป บาทหลวงที่บวชใหม่จะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอีกต่อไป ส่วนที่ได้รับการช่วยเหลือแล้วนั้นก็จะช่วยเหลือตลอดไปเช่นกัน (เงินใช้จ่ายของวัดและของบาทหลวง) ปีนี้ประเทศลักเซมเบิร์กครบรอบ 350 ปี จึงได้อันเชิญแม่พระองค์อุปถัมภ์ของประเทศมาตั้งที่อาสนวิหาร ให้ประชาชนมาจาริกแสวงบุญ
วันที่ 14 ก.ค. 59
วันนี้เป็นวันพิเศษที่ได้มีโอกาสไปที่เมืองโคโลญน์ พร้อมกับบิชอปของลักเซมเบิร์ก พ่อวินัย พ่อยอด เนื่องจากพ่อวินัยต้องนำเสนอโครงการวิทยาลัยของคณะที่จะสร้างขึ้นที่เชียงแสน ได้มีโอกาสเยี่ยมชมอาสนวิหารเมืองโคโลญน์ที่สร้างนานกว่า 200 ปี ส่วนกลุ่มอื่นก็ไปที่ Clervaux เพื่อเยี่ยมชมอารามและพิพิธภันฑ์
วันที่ 15 ก.ค. 59
วันนี้ต้องไปที่เมือง Echternach เริ่มด้วยการนั่งรถไฟ จากนั้นก็นั่งรถบัส เสร็จแล้วให้เดินจาริกแสวงบุญไปยังวัดนักบุญวิลเลนบรอด นักบุญของประเทศลักเซมเบิร์ก ที่นี่ทุกปีจะมีเทศกาลเต้นรำประจำปีพร้อมทั้งฉลองนักบุญวิลเลนบรอด และวันนี้มีการบววชสังฆานุกร 2 องค์จากคณะ Verbum Spei คณะนี้มาจากเม็กซิโก ที่ลักเซมเลิร์กเองกระแสเรียกน้อย มีเณรทั้งประเทศ 5 คน ไป เรียนที่ฝรั่งเศส บราซิล และเยอรมัน
วันที่ 16 ก.ค. 59
วันนี้ไปที่ Vianden ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ ร่วมมือกับหลายประเทศในยุโรป เป็นเมืองบ้านเกิดของพระคุณเจ้าด้วย จากนั้นก็ไปที่ปราสาทแห่งเมืองVianden ซึ่งกำลังบูรณะอยู่ แต่ก็เย่ยมชมได้
วันที่ 17 ก.ค. 59
เป็นวันอาทิตย์ สำหรับวันอาทิตย์นั้นเป็นวันครอบครัว ฉะนั้นแต่ละครอบครัวที่เราไปอยู่ก็จัดกิจกรรมเอง) สำหรับบ้านผม เช้าก็ไปร่วมมิสซา จากนั้น เจ้าวัดก็พาไปเยี่ยมตามที่ต่าง ๆ ในเขตวัดของพ่อ ส่วนใหญ่เป็นวัด เพราะวัดที่นี่น่าศรัทธามาก (ไม่ว่าสถาปัตยกรรม การตกแต่ง ไปป์ออร์แกน) ส่วนตอนเย็นก็มีปาร์ตี้โดยมีเพื่อนบ้านมาร่วมด้วย
วันที่ 18 ก.ค. 59
เป็นวันสุดท้ายที่เราจะไปท่องเมืองกัน วันนี้ไปที่เมือง ESCH โดยที่ภาคเช้าเดินทางเยี่ยมชมสวนสัตว์ ESCH เป็นเมืองใหม่ที่สร้างมหาวิทยาลัยลักเซมเบิร์ก มีแค่ 3 คณะ แต่มีนักศึกษา 7000 คนและนักวิจัย 3000 คน อยู่บริเวณเดียวกับโรงงานถลุงเหล็ก Beval อาคารที่นี่ออกแบบสร้างลักษณะเดียวกับสร้างสะพาน ไม่มีเสาค้ำยัน และชั้นล่างของอาคารก็โล่ง สำหรับประชาชนเข้าได้
วันที่ 19 ก.ค. 59
วันนี้เป็นวันเตรียมตัวสำหรับการเดินทางไปโปแลนด์ในตอนเย็น รถจะออก ประมาณ 3 ทุ่ม พ่อแม่ที่เราจะไปอยู่ด้วยมาส่งเราพร้อมกับลูกหลานที่จะไปที่ประเทศโปแลนด์ด้วย จำนวนมากกว่าเดิม
สัปดาห์ที่ 2 ย้ายจากลักเซิมเบิร์กมาที่โปแลนด์
วันที่ 19 ก.ค.59 เราออกเดินทางจากลักเซมเบิร์กเวลา 21.00 น. กะว่าจะถึงเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 20 ก.ค. 59
ประเทศโปแลนด์ปีนี้ได้ฉลองครบ 1050 ปี และถือได้ว่าเป็นประเทศคาทอลิกที่เคร่งครัดที่สุดในยุโรป แม้จะมีการยึดครองจากประเทศต่าง ๆ นานหลายร้อยปี แต่เรื่องศาสนายังมั่งคง เห็นได้จาดวัดต่าง ๆ ที่ใหญ่โต สิ่งที่พวกเขาถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศและอัศจรรย์คือ เวลาที่ประเทศถูกปกครองโดยคอมมิวนิสต์ (รัสเซีย) แต่พระสันตะปาปาที่ถูกเลือเป็นชาวโปแลนด์ (น.ยอห์น ปอล ที่ 2) ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเขิง แต่เป็นพลังให้กับชาวโปแลนด์ลุกขึ้นต่อสู้จนคอมมิวนิสต์ล่มสลายไปในที่สุด โปแลนด์เป็น 1 ใน 4 ประเทศยุโรโซนที่ไม่ใช้เงินยูโร
วันที่ 20 ก.ค.
ใช้เวลาเดินทางกว่า 13 ชั่วโมง เนื่องจากที่ยุโรปนั้นเข้มงวดในระเบียบของขนส่งมวลชน ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ต้องพัก 20 นาที และห้ามขับรถเกินวันละ 8 ชั่วโมง เมื่อมาถึงที่เมือง Wroclaw จึงทานอาหารเที่ยงก่อน จากนั้นลงทะเบียนไปอยู่กับครอบครัว ผมได้ไปอยู่กับครอบครัว Grajkascy กับน้อง ๆ อีก 2 คน ครอบครัวนี้อยู่ที่คอนโดน มี 3 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ และห้องทีวี และทำอาหาร ปกติอยู่ด้วยกัน 3 คน แต่เมื่อเรามาเพิ่มอีก 3 คน เขาก็ย้ายที่ ไปอยู่ห้องเดียวกัน และให้เราอยู่กัน 2 ห้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมค้างคาใจอยู่แล้วตอนที่อยู่ลักเซมเบิร์ก เพราะผมรู้สึกว่า เหมือนการไปแย่งห้องของเขา แล้ววันหนึ่งผมอดไม่ได้ที่จะถามว่า ทำไมท่านต้อนรับเราที่บ้าน ทั้ง ๆ ที่มีที่ไม่พอ คำตอบที่ผมได้รับคือ เป็นเกียรติที่ท่านได้มาอยู่ที่บ้านของเรา บ้านของเราก็เหมือนบ้านของท่าน เป็นคำตอบที่ผมมองกลับไปที่บ้านผมเองหรือบ้านปกาเกอะญอ ที่จริงแล้วเรายังมีที่มากมายกว่าพวกเขา แต่ใจเราแคบไปหน่อย (ผมคิดเอง) หลังจากที่เข้าพักที่บ้านแล้ว ที่จริงเจ้าของบ้านพ่อแม่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ลูกชาย-ลูกสาวพูดได้ ก็เลยมาที่บ้านเพื่อที่จะสื่อสารกับ เรา ตอนเย็นก็เป็นมิสซาต้อนรับพวกเรา จากนั้นก็พากันเดินเล่น เพราะที่นี่สี่ทุ่มยังสว่างอยู่เลย เมื่อกลับมาที่บ้านก็มีอาหารค่ำอีกมื้อหนึ่งปิดท้าย (ชาวโปแลนด์ทานข้าววันละ 4 มื้อ (Breakfast, II, breakfast, Dinner และ Supper) อาหารเช้ามื้อที่ 2 ท่านก่อนเที่ยง เพราะฉะนั้นที่นี่ จะไม่มีอาหารเที่ยง
วันที่ 21 ก.ค. 59
วันนี้หลังอาหารเช้า เราก็ไปที่วัด ร่วมมิสซาและเรียนคำสอน จากนั้นก็ทานอาหารเช้าก่อนเที่ยง แล้วก็ออกเดินทาง ท่องเมือง จนกระทั่งเวลา 15.30 น. ก็มารวมกันเพื่อนไปรับอาหารที่เรียกว่า Dinner ทานอาหารเสร็จ เราต่อไปยัง Mercy Fest เพื่อร่วมกิจกรรม มีดนตรี กีฬา พักผ่อน พูดคุยกันตามสบาย จนกระทั่งเวลา 19.00 น. เราก็เดินทางกลับเข้าที่พัก และก็ตามด้วย Supper เป็นแบบนี้ทุกคืนเวลาที่อยู่โปแลนด์
วันที่ 22 ก.ค. 59 โดยทั่วไปก็เหมือนกับวันที่ 21 เพียงแต่ตอนเย็นมี เทเซ่
วันที่ 23 ก.ค. 59
วันนี้มีรายการพิเศษ เพราะหลังอาหารเช้า เราต้องเดินทางไปที่เมือง Lubiaz เป็นเมืองที่บรรดาทหารลักเซทเบิร์กถูกส่งมาที่นี่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ วันนี้เราจึงไปร่วมมิสซาให้เกียรติแด่ทหารผู้ล่วงลับ และเป็นพิเศษ กษัตริย์แห่งลักเซมเบิร์กมาร่วมมิสซาและวางพวงหรีดด้วย หลังมิสซาไปยังอาคารคณะซิสเตอร์เซียน เป็นคณะที่ยิ่งใหญ่ในสมัยยุคกลาง แต่เวลานี้อาคารนี้มีจำนวนห้องมากว่า 300 ห้อง โดยที่ไม่มีนักบวชอยู่อีกเลย มีแต่คนดูแลไม่กี่คน ยุคที่มีสงคราม ก็มีการใช้สถานที่นี้ เป็นทั้งโรงพยาบาลและสถานที่ทำงานของทหาร ที่น่าเสียดาย ภาพวาดต่าง ๆ ที่ประดับประดับก็ถูกขโมยไปหมด แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ดีแล้วที่ถูกขโมยไป ไม่เช่นนั้นก็จะถูกเยอรมันเผาทิ้งไป จากที่เราก็กลับไปที่สนามฟุตบอลของเมือง Wroclaw เพื่อชอมคอนเสิร์ต ที่เรียนว่า “ Singing Europe” โดยมีวงออเคสตราที่บรรเลงเพลงจากชาติต่าง ๆ และนักร้องประสานเสียงกว่าพันคน ใช้เวลาประมา 3 ชั่วโมง จากนั้นก็กลับไปที่พักกว่าจะถึงที่ก็เกือบ ทุ่มแล้ว แต่ไม่วายก็มี Supper อีก
วันที่ 24 เป็นวันอาทิตย์
โปแกรมคือร่วมมิสซากับสัตบุรุษ จากนั้นก็แล้วแต่แต่ละบ้านจะจัดไป ผมกับน้อง ๆ 2 คน กับลูกสาวเจ้าของบ้าน ก็พากันเที่ยวสวนสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโปแลนด์ เมื่อมาถึงผมก็แปลกใจว่า ทำไมคนเยอะขนาดนี้ เพราะต้องต่อแถวกันยาวมาก และแทบไม่มีชาวต่างชาติเลย ได้รับคำตอบว่า วันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว เพราะฉะนั้นแต่ละครอบครัวก็ออกท่องเที่ยวกันไม่ว่าลูกเล็กเด็กแดง ก็พากันไป เป็นบรรยากาศครอบครัวอบอุ่นจริง ๆ จากครอบครัวก็มาที่พิพิธภัณฑ์ของเมือง และเที่ยวชมสวนและลานน้ำพุดนตรี ปิดท้ายด้วยอาหารบ่ายแบบไทย ๆ คือ เราไปที่ร้านอาหารไทย ได้ทานก๋วยเตี๋ยวและกระเพราหมูในต่างประเทศก็ถือว่าสุดยอดแล้ว เฉลี่ยมื้อนี้หมดไปประมาณคนละ 500 บาท (เงินไทย) ถือว่ายังพอไหว กลับคืนนี้ผมของดอาหารค่ำเลย แต่ก็มีโอกาสนั่งคุยกันกับเจ้าของบ้าน โดยมีลูกสาวเป็นล่าม มีเรื่องราวดี ๆ มากมายที่ได้แบ่งปันกัน
วันที่ 25 ก.ค. 59
วันนี้มีโปแกรมยาว โดยที่ช่วงเช้าเราจะไปที่สักการะสถานอีเมืองหนึ่ง ร่วมมิสซาเคารพพระธาตุนักบุญ Edith Stein จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังเมือง Krakow เพื่อเข้าร่วมงานเยาวชนโลกอย่างแท้จริง พวกเราที่มาด้วยกันกว่า 200 คน ไปพักที่เขตวัดหนึ่งในหมู่บ้าน Trazbki ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กม. โดยที่บาทหลวง 3 องค์พักที่เดียวกัน ที่บ้านของครอบครัว Yanus และ Patricia มีลูกชายคนหนึ่ง ที่นี่ก็คล้ายกันคือ บ้านที่เราพักนั้นมี 1 ห้องทำงานและห้องนั่งเล่น ซึ่งเป็นห้องทานอาหารด้วย
สัปดาห์ที่ 3 ร่วมงานเยาวชนโลก สัปดาห์นี้เป็นการร่วมงานเยาวชนโลกอย่างแท้จริง
วันที่ 26 ก.ค. 59
เราทานอาหารเช้าที่บ้าน ซึ่งเวลานี้เป็นช่วงที่เบรกยาว ทั่วไปก็ตื่นสาย ๆ แต่เมื่อเรามานอนที่บ้าน เจ้าบ้านก็ต้องตื่นเช้าเพื่อทำอาหารเช้าให้กับพวกเรา อาหารเช้าเสร็จแล้วเราก็ไปที่วัด เพื่อขึ้นรถไปที่ ค่ายลูกเสือ หรือที่เรียกว่า Mercy Valley เพื่อร่วมมิสซากับลูกเสือ โดยมีบิชอปของลักเซมเบิร์กเป็นประธาน แต่เนื่องจาก เราไม่รู้สถานที่จึงมาถึงสายตอนที่เทศน์แล้ว หลังมิสซาก็มีการแจกคูปองอาหารแบ่งตามสีและตามวัน ฉะนั้นหลังจากที่ได้รับคูปองแล้ว งานต่อไปคือไปหาอาหารทานกัน พวกเราก็เดินหาสถานที่จำหน่ายอาหาร ถามใครก็ไม่มีใครรู้ แต่เดินไปเดินมาเจอร้านอาหารแห่งหนึ่งบอกว่าที่นี่รับคูปอง เราก็เข้าไปต่อแถวทันที เนื่องจากมีคนเยอะต้องใช้เวลานานกว่าจะได้กิน เมื่อกินเสร็จแล้ว ก็ไปตามที่ต่าง ๆ เหมือนคนไม่รู้อะไร เพราะไม่รู้จริง ๆ ไปเหนือหรือใต้ เส้นไหน เพราะคนเยอะมาก และส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ อาสาสมัครก็ไม่เห็น และวันนี้เป็นพิธีเปิดงานเยาวชนโลกอย่างเป็นทางการ ซึ่งเราก็เข้าร่วมแต่ไม่จบมิสซา เพราะเราต้องกลับไปที่รถในเวลา 1 ทุ่ม จึงต้องรีบออกมาก่อน กว่าจะกลับมาได้ก็เกือบไม่ทันเวลา วันนี้เราเดินกันเป็นกลุ่มใหญ่ หลงก็หลงด้วยกัน
วันที่ 27 ก.ค. 59
เช้าวันนี้เริ่มเวลา 09.00 น. ที่วัด เริ่มด้วยการเรียนคำสอนกับบิชอปของลักเซมเบิร์ก โดยภาษาฝรั่งเศส ฟังได้ยินแต่ไม่เข้าใจ ก็มีล่ามช่วยแปล แต่เนื่องจากอยู่ในวัดเดียวกันแปลหลายภาษาจึงไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ต่อเนื่องกันแบบนี้ 3 วันภาคเช้า ภาคบ่ายวันนี้ เราก็เข้าเมืองปกติ เพราะเราต้องไปรับอาหารเที่ยงหรือบ่ายไม่ทราบ เพราะทุกวันจะได้ทานอาหารก็ประมาณบ่าย 2-3 จากนั้นก็เดินเที่ยวชมวิหารต่าง ๆ ในเมืองซึ่งมีมากมายล้วนแต่อลังการทั้งนั้น หรือสถานที่จัดงานต่าง ๆ ทั่วไป ทั่วเมืองKrakow เต็มไปด้วยเยาวชนจากทั่วโลกกว่า 180 ประเทศ กว่า 2 ล้านคน พร้อมด้วยสีสันของธงชาติ การร้องเพลง การทักทายดังกระหึ่มตลอดเวลา มีการแลกของที่ระลึก
วันที่ 28 ก.ค. 59
เช้าเรียนคำสอน ตามด้วยมิสซา และออกเดินทางไปที่เมือง วันนี้มีพิเศษหน่อยที่ตอนเย็นจะมีพิธีต้อนรับพระสันตะปาปา เพราะฉะนั้นตอนบ่ายเราก็เดินเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ตามปกติ เวลาประมาณ 16.00 น. เราก็รวมตัวกันไปที่สนามเพื่อร่วมงานต้อนรับพระสันตะปาปา แต่เนื่องด้วยมีเวลาจำกัดในการเดินทาง เราจึงร่วมงานไม่ได้ สังเกตว่าวันนี้กลุ่มจะเล็กลง เพราะหลายคนก็เดินทางไปไหนเองได้ เพียงแต่ให้กลับมาที่รถในเวลาที่กำหนด แปลกไหมครับ เวลาที่ต่างคนต่างไป แต่กลับมาที่รถก่อนเวลากันทุกคนเลย
วันที่ 29 ก.ค. 59
วันนี้ตอนเช้าก็ยังมีมิสซาและเรียนคำสอนตามปกติ แต่ตอนเย็นมีงานอีกงานหนึ่งที่สำคัญคือ การเดินรูป 14 ภาค โดยพระสันตะปาปา ผมมักจะอ้างถึงเวลาที่เราต้องกลับมาเสมอเพราะ ช่วงเวลาของ มิสซาเปิด ต้อนรับพระสันตะปาปา และเดินรูป เริ่มเวลา 17.30 น. เลิกประมาณฯ 19.00 น. แต่รถของเราจะออกเวลา 19.00 น. ฉะนั้นพิธีต่าง ๆ เหล่านี้พวกเราแทบจะไม่มีโอกาสร่วมจนจบเลย หรือไม่มีโอกาสร่วมเลย เพราะการเดินทางที่มีคนจำนวนมากนั้นลำบากจริง ๆ สำหรับผมวันนี้ตั้งใจที่จะไปปราสาทของเมือง เพื่อเยี่ยมชมอาสนวิหารที่พระสันตะปาปาพบกับบิชอปของประเทศโปแลนด์ ผมใช้เวลาต่อคิวรอกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง ก็ได้เข้าไปในปราสาท ไม่เสียดายเวลาที่รอคอยเลย เพราะข้างในเป็นสิ่งน่าทึ่งมาก ออกจากปราสาท ผมก็กลับไปที่วัดระหว่างทางเพื่อจะเดินรูปส่วนตัว จากนั้นก็รีบกลับบ้าน แต่ไม่ได้ขึ้นรถ ใช้เวลาเดินเท้ากว่า 2 ชั่วโมงจึงถึงที่หมาย
วันที่ 30 ก.ค. 59
วันนี้เป็นที่เราต้องออกเดินทางจาริกแสวงบุญ ไปที่ที่จัดงานหรือ Campus Misericordia ฉะนั้นตอนเช้าเราก็มารวมกันที่วัด ร่วมมิสซาแล้วก็ออกเดินทาง ถ้าไปตรงก็ประมาณ 8 กม. แต่เนื่องจากว่ามันใกล้เกินไป เราจึงใช้เส้นทางใหม่ยาวกว่าเดิมเกือบ 1 เท่า (15 กม.) การเดินทางด้วยคนจำนวนมากจึงต้องใช้เวลา เราออกเดินทางประมาณ 11.00 น. ถึงที่หมาย 17.30 น. ที่จริงผมก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบเดินทางแบบเดินเท้าบ่อย ๆ ไม่เคยมีแผลหรือลูกแก้วที่ฝ่าเท้าเลย แต่งานนี้ไม่รอด เจอมา 2 แผล แต่ก็ยังมีพี่น้องอีกหลายคนที่ลำบากกว่า ถึงที่หมายแล้วก็ต้องหาที่พัก ที่พักของเราก็อยู่ที่ F1 แต่พอไปถึงจริงที่ไม่พอ จึงต้องเปลี่ยนที่กันส่วนใหญ่แต่ก็อยู่ใกล้ที่เดิม ซึ่งที่ที่เราอยู่อย่าว่าแต่เห็นพระสันตะปาปาเลย แม้โปรเจ็คเตอร์ยังไม่เห็นด้วยซ้ำ ฉะนั้นทุกคืนที่ผ่านมาเราก็กลับไปดูทีวีกันว่าพระสันตะปาปา ทำอะไร พูดอะไร คืนนี้ที่จริงมีการอวยพรศีล และคอนเสริ์ต แต่เนื่องจากการเดินทางที่เหนื่อยล้า หลังอวยพรศีลก็หลับกันเลย ไม่ไดเยินแม้กระทั่งดนตรีที่ดังกระหึ่ม
วันที่ 31 ก.ค. 59
เช้านี้ ตื่นสายหน่อย เพราะมิสซาจะเริ่ม 10.00 น. แต่ถึงยังไง ต้องตื่นเช้าอยู่ดี เพราะตี 5 ก็สว่างโล่งแล้ว จากที่กังวลเรื่องห้องน้ำ ดูเหมือนไม่มีปัญหา เพราะตู้ห้องน้ำก็มีมากมาย และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคืออาหาร เนื่องจากมีที่จ่ายอาหารน้อย และทำแบบทีละคน อย่างเช่นกาแฟ ก็กดทีละแก้วตามความต้องการตามยี่ห้อจึงช้า แค่ผมรอน้ำร้อนอย่างเดียวก็ปาเข้าไปชั่วโมงแล้ว แต่ความอดทนชนะทุกอย่าง รอดตัวมาได้ด้วยไส้กรอก 1 ชิ้น จากนั้นก็รอร่วมมิสซา แต่มิสซาเป็นภาษลาติน เทศน์เป็นภาอีตาเลียน ที่จริงมีแปลหลายภาษาผ่านทางคลื่นวิทยุ ซึ่งก็ใช้มือถือได้ในการฟังวิทยุ แต่ปัญหาคือไม่มีหูฟัง และกว่าจะหาคลื่นได้ก็เทศน์จบพอดี หลังมิสซาก็ต้องรีบออกมา เพราะคนเป็นล้านจะออกที่เดียวจะวุ่นวายขนาดไหน กลุ่มของพวกเราถือว่าออกกันได้เร็ว แต่ผิดทางซะนี่ ก็ต้องย้อนกลับไปอีกเล็กน้อย ที่นัดหมายเดินเกือบชั่วโมง แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าที่นัดหมายคือที่จอดรถนั้นอยู่ที่ไหน แม้แต่ตำรวจก็ไม่รู้ (เอาเข้าไป) สุดท้ายก็ต้องหาวิธีความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว คือนั่งพักแล้วค่อยว่ากัน สุดท้ายก็สามารถติดต่อคนมารับได้ แต่กว่าจะมาต้องรอนานกว่า 3 ชั่วโมง ระยะทางแค่ 7 กม. มารู้ที่หลังว่า ได้รับการแจ้งให้ทราบ เมื่อ 15 นาทีที่แล้ว (ไม่ว่ากันประเทศเขาครับ) เมื่อกลับมาถึงวัด ก็ย้อนกลับไปที่บ้านพักอีกครั้ง เจ้าบ้านเตรียมพร้อมซุปไก่ร้อน ๆ (เจ้าบ้านบอกว่าที่โปแลนด์เมนูอาหารคือตุ้มซุปไก่จะมีทุกอาทิตย์ทุกบ้านด้วย) ทานเสร็จแล้วก็ขอไปว่ายน้ำในสระกับพ่อยอด เพราะไม่ได้อาบน้ำมา 2 วัน 1 คืนแล้ว จากนั้นเก็บข้าวของ กลับไปที่วัดเพื่ออำลากลับไปลักเซมเบิร์ก แต่กว่าจะออกไปได้ก็ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง เพราะมีรถยนต์ และ คนมายืนขวางหน้ารถ เป็นเครื่องหมายว่าไม่อยากให้เรากลับ (เป็นวัฒนธรรมของเขา ที่บ่งบอกถึงความมีมิตรภาพ เมื่อเราออกเดินทางพวกเขาก็ตามไปจนรถลับสายตา ช่วงนั้นเวลาประมาณ 21.30 น.) เราจึงเดินทางกลับไปลักเซมเบิร์ก ผ่านประเทศเยอรมัน ใช้เวลาประมาณ 17 ชั่วโมง คือบ่าย 2 วันที่ 1 สิงหาคม 59 เราจึงค้างคืนที่ลักเซมเบริ์กอีก 1 คืน พร้อมกับขอบคุณผู้มีพระคุณทุกท่านที่ช่วยเหลือเรา พักผ่อนเพื่อที่จะตื่นพรุ่งนี้ตี 4 ของวันที่ 2 เพื่อจะเดินทางต่อไปที่กรุงบรัสเซล์ประเทศเบลเยี่ยม
วันที่ 2 ส.ค. 59
ออกเดินทางตี 5 ตรง มุ่งไปยังกรุงบรัสเซลล์ด้วยรถทัวร์ เช้านี้ก็มีฝนตก เมือถึงสนามบินประกฎว่ามีคนจำนวนมาก เข้าใจว่าเยาวชนที่มาร่วมงานคงจะกลับมาขึ้นเครื่องที่นี่จำนวนไม่น้อย แต่เนื่องจากเราไปถึงเช้า เรามีเวลาที่จะทำธุระต่าง ๆ ได้อย่างไม่กังวลมากนัก ถึงเวลาขึ้นเครื่องแล้ว เดินทางขากลับทุกอย่างตรงเวลา มาถึงประเทศไทย เช้าวันที่ 3 เวลา 07.00 น. หลังจากนั้นรวมตัวกันก่อนนิดหน่อย กลุ่มหนึ่งก็กลับไปที่บ้านเซเวียร์ เพื่อแพ็คกระเป๋าใหม่ ส่วนหนึ่งส่งขึ้นรถทัวร์ เพราะถ้าขึ้นเครื่องน้ำหนักเกินกันทุกคน ส่วนผมก็ขอตัวไปก่อน ทิ้งตั๋วเดิมและซื้อตั๋วใหม่กลับเชียงใหม่ก่อนใคร เมื่อถึงเชียงใหม่สิ่งเดียวที่ทำคือนอนรวดเดียว 12 ชั่วโมง ตื่นอีกที เช้าวันที่ 4 ส.ค. 59 ยังมึน ๆ อยู่
สุดท้าย
ถือโอกาสนี้ขอบ คุณพระคุณเจ้าวีระ ที่ให้โอกาสผมทิ้งงานเกือบเดือน ขอบคุณพ่อวินัย พ่อยอด มาเซอร์อักแนส และน้อง ๆ เยาวชนที่ร่วมเดินทางด้วยกันทุกท่านด้วยมิตรภาพอันดี และที่ลืมไม่ได้เลยคือบรรดาผู้มีพระคุณไม่ว่า บิชอปแห่งลักเซมเบิร์ก ผู้ประสานงาน เจ้าบ้านที่รับเราไปอยู่ด้วยไม่ว่าที่ลักเซมเบิร์กหรือโปแลนด์ และเยาวชนทุก ๆ ท่าน ที่ต้อนรับเราและเดินทางร่วมกับเรา ขอพระอวยพรทุกท่านเทอญ