Skip to content
22ramosC

วันอาทิตย์ใบลาน พระมหาทรมาน 20 มีนาคม 2016

บทอ่าน แห่ใบลาน ลก 19:28-40
มิสซา อสย 50:4-7 ; ฟป 2:6-11 ; ลก 22:14-23:56
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 162, 333, 440, 441, 443, 532, 551-2
ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร (CSDC) 193, 379
จุดเน้น เราทุกคนร่วมส่วนกับผู้รับใช้ผู้รับทุกข์ทรมาน

สัปดาห์นี้ให้เราอยู่กับพระคริสตเจ้า  พยายามเข้าใจความชั่วร้าย (ในสังคม)  แม้ไม่มีคำตอบให้ต่อคำถามว่าทำไมจึงมีความชั่วร้าย  แต่ก็ขอให้เราร่วมกับพระคริสตเจ้ารับพระทรมาน  ธรรมล้ำลึกสุดท้าย คือ บาปโน้มนำเราให้เป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้า    การต่อต้านนี้คือสาเหตุสำคัญของความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทุกคน    การแตกแยกจากต้นกำเนิดแห่งความสุขของเรา  เราทุกคนทำบาป  เราทำบาป  นำความชั่ว  และความทุกข์ลำเค็ญเข้ามาในโลก

แล้วเราจะจัดการมันอย่างไร  เราจะจัดการความชั่วจากพระคริสตเจ้าได้อย่างไร  เหตุการณ์ต่างๆ ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์นี้ให้คำตอบเรา

เสียงในบทอ่านแรกวันนี้เป็นเสียงของผู้รับใช้ผู้รับทุกข์ทรมานในหนังสือพันธสัญญาเดิม  มิได้เป็นพระเมสสิยาห์เท่านั้น  แต่เป็นผู้แทนชาวอิสราเอลด้วย คือ ชุมชนของผู้รับทุกข์ทรมาน  คุณธรรมแรกที่ต้องแบ่งปัน คือ ความสงสาร (เห็นอกเห็นใจ)  หมายความถึงการ “ร่วมรับทุกข์กับ”  และนี่จึงเป็นการตอบคำถามว่าเราต้องจัดการความทุกข์ได้อย่างไร

พระเจ้าทรงรู้ว่าเราไม่มีกำลังพอ  พระองค์ทรงรักเรา  ทรงเสด็จมาอยู่ท่ามกลางเรา  เห็นอกเห็นใจ  ทรงร่วมรับทุกข์ทรมาน  ซึ่งเป็นผลของความชั่ว    พระเยซูคริสตเจ้า  บุตรพระเจ้า  ทรงรับสภาพมนุษย์  ทรงทำให้เรามีกำลัง  เลียนแบบชีวิตของพระองค์

เราทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปและศีลกำลัง  ก็มีส่วนในพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า  ในเวลาเดียวกัน  ศีลมหาสนิท  ในฐานะเป็นพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าด้วย

ศีลมหาสนิทสร้างพระศาสนจักร  และพระศาสนจักรก็มีศีลมหาสนิท  พระศาสนจักรมิได้มาจากพระคัมภีร์  พระศาสนจักรมาจากศีลมหาสนิท  ต่อมาจึงผลิตพระคัมภีร์  ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปและศีลกำลัง  ได้รับศีลมหาสนิท  จึงเกิดพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า  ดังนั้นเราทุกคนร่วมกับผู้รับใช้ผู้ทนทุกข์  นั่นคือพิธีกรรมต่างๆ ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์นี้

ในจดหมายถึงชาวโคโลสี  นักบุญเปาโลเขียนเกี่ยวกับความทรมานว่า “บัดนี้ข้าพเจ้ายินดีที่ได้รับความทุกข์ทรมาน  เพื่อท่านทั้งหลาย  ความทรมานของพระคริสตเจ้ายังขาดสิ่งใด  ข้าพเจ้าก็เสริมให้สมบูรณ์ในกายของข้าพเจ้า  เพื่อพระกายของพระองค์คือพระศาสนจักร…”  (คส 1:24)   นักบุญเปาโลกำลังกล่าวถึงความเป็นปึกแผ่น (Solidarity) ที่เราทุกคนมีส่วนร่วม  มิใช่กับคนอื่นเท่านั้น  แต่ร่วมกับพระคริสตเจ้า  ในความทุกข์ทรมานของพระองค์ที่ช่วยไถ่กู้เรา

เพลงสดุดีวันนี้มาจากบทที่ 22 “ข้าแต่พระเจ้า  ข้าแต่พระเจ้า  เหตุไฉนจึงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า”  เป็นเสียงของผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ในพันธสัญญาเดิม  แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นพระวาจาสุดท้ายที่พระเยซูคริสตเจ้าได้ร้องออกมาเวลาสิ้นพระชนม์บนกางเขน  อันที่จริง  พระเจ้ามิได้ปกป้องพระองค์เองจากผลของบาปของเรา  ความทุกข์แบบมนุษย์เป็นผลของบาป  พระองค์ทรงรู้  ทรงสงสารเรา  พระองค์ทรงทนทุกข์กับเรา  และเพื่อเรา

แต่ความสงสารได้เปลี่ยนเป็นเมตตาธรรม  และช่วยเราให้เอาชนะบาป  เอาชนะความทุกข์  และความตาย  ดังบทเพลงของคริสตชนสมัยแรก “แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้า  พระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหน  แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น  ทรงรับสภาพดุจทาส  เป็นมนุษย์ดุจเรา  ทรงแสดงพระองค์ในธรรมชาติมนุษย์  ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย  เป็นความตายบนไม้กางเขน  เพราะเหตุนี้  พระเจ้าจึงทรงเทิดทูนพระองค์ขึ้นสูงส่ง  และประทานพระนามให้แก่พระองค์  พระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้น  เพื่อทุกคนในสวรรค์และบนแผ่นดินรวมทั้งใต้พิภพ  จะย่อเข่าลงนมัสการพระนาม ‘เยซู’ นี้  และเพื่อชนทุกภาษาจะได้ร้องประกาศว่า  พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า  เพราะพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าพระบิดา” (ฟป 2:6-11 บทอ่านที่ 2)

ดังนั้น  เราก้าวเข้าสู่สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์  เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์นี้  เราจะร่วมกับพระเยซูคริสตเจ้าในพระสิริรุ่งโรจน์ปัสกาของพระองค์

บิชอป  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(มกราคม-มีนาคม  2016), หน้า 131-133.