Skip to content

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
ทรงมอบโอวาท ปราศรัยส่งความสุขและอวยพร
โอกาสฉลองคริสต์มาส ปี 2015 และปีใหม่ 2016
แก่บรรดาเจ้าหน้าที่แห่งสันตะสำนัก

 

        “เรื่องที่พ่อจะพูดในวันนี้คือเรื่องที่เราต้องหันกลับไปสู่ประเด็นที่มีความสำคัญที่สุด เพียงไม่กี่วันหลังการประกาศการเดินทางของพระศาสนจักรในปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรมซึ่งเป็นปีสำคัญเร่งด่วนที่เรียกร้องให้พระศาสนจักรและพวกเราทุกคนมีความกตัญญู กลับใจ ฟื้นฟูชีวิตใหม่ ทำการใช้โทษบาปและคืนดีกับพระเจ้า”

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงปราศรัยกับเจ้าหน้าที่แห่งสันตะสำนักที่วาติกันเมื่อเช้านี้ว่าดังนี้

 

พี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย

        เนื่องในโอกาสฉลองคริสต์มาสและปีใหม่ พ่อรู้สึกยินดีที่จะมอบความสุขและความปรารถาดีมายังพวกท่าน ผู้ที่ทำงานอยู่ในสำนักงานกับท่าน ผู้ที่เป็นผู้แทนของพ่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานจนครบเกษียณเมื่อปีที่แล้ว  และขอให้พวกเราระลึกถึงทุกคนที่ได้กลับบ้านไปหาพระผู้เป็นเจ้าแล้วพ่อรู้สึกกตัญญูต่อพวกท่านตลอดจนสมาชิกทุกคนในครอบครัวของท่านด้วย

การพบปะของพวกเราในปี 2013 พ่อเน้นสองสิ่งสำคัญที่แยกออกจากกันไม่ได้ในการปฎิบัติของหน่วยงานต่างๆแห่งสันตะสำนัก นั่นคือ ความเป็นมืออาชีพและการรับใช้  แล้วพ่อก็มอบนักบุญโยเซฟให้เป็นแบบฉบับที่พวกเราต้องเอาเยี่ยงอย่าง  ถัดมาเมื่อปีที่แล้ว ค.ศ. 2014 เพื่อเป็นการเตรียมตัวรับศีลอภัยบาป พ่อพูดถึงการล่อลวงหรือ “ความเลวร้าย” ซึ่งเป็น “สารพัดโรคร้ายแห่งหน่วยงานต่างๆของสันตะสำนัก” ซึ่งส่งผลร้ายโดยตรงให้กับบรรดาคริสตชน หน่วยงานสันตะสำนักเอง ชุมชน คณะนักบวช วัด และคณะกิจการคาทอลิกต่างๆ นี่เป็นเชื้อโรคที่เรียกร้องให้ต้องมีการป้องกัน เฝ้าระวัง และดูแลรักษา ซึ่งในบางกรณีเป็นเรื่องน่าเศร้า เจ็บปวด และต้องจัดการให้ยาขนานใหญ่กันเป็นเวลานาน

โรคร้ายบางชนิดปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในปีที่แล้ว ซึ่งสร้างความเจ็บปวดไม่น้อยเลยให้กับพระกายทั้งครบของพระเยซูคริสต์และทำร้ายดวงวิญญาณเป็นจำนวนมาก

ดูเหมือนว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้นอีก กล่าวคือสิ่งที่เราต้องทำการไตร่ตรองอย่างจริงใจและหาทางป้องกันอย่างเด็ดเดี่ยว  การปฎิรูปจะต้องดำเนินต่อไปด้วยแรงปวารณาอย่างจริงจัง มีความชัดเจน และมีความตั้งใจแน่วแน่ เนื่องจากพระศาสนจักรจำต้องมีการปฎิรูปกันอยู่เสมอ (Ecclesia semper reformanda)

อย่างไรก็ตามโรคร้ายและการเป็นที่สะดุดจะไม่เป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพแห่งการรับใข้ของหน่วยงานต่างๆแห่งสันตะสำนักต่อสมเด็จพระสันตะปาปาและต่อพระศาสนจักรสากลได้ ทุกคนต้องทำงานด้วยความพยายาม มีความรับผิดชอบ ปวารณาตนเองและเสียสละ นี่แหละคือความบรรเทาใจแท้จริง  นักบุญอิกญาซีโอสอนว่า “นี่เป็นคุณสมบัติจำเพาะของจิตชั่วที่จะก่อให้เกิดความขุ่นข้องใจ ความเสียใจ ความยากลำบาก แล้วก่อให้เกิดความกังวลไร้สาระเพื่อไม่ให้เราเดินหน้าต่อไปตรงกันข้ามมันเป็นคุณสมบัติจำเพาะของจิตดีที่จะสร้างความกล้าหาญ พลัง ความบรรเทาใจ แรงบันดาลใจ ความสงบ ตลอดจนการลดละและขจัดความยากลำบากทุกอย่างจนหมดสิ้นไป เพื่อเราจะได้ก้าวหน้าไปสู่หนทางแห่งคุณงามความดี”

นี่จะเป็นการผิดต่อความยุติธรรมมากทีเดียวหากพ่อไม่แสดงความกตัญญูและให้กำลังใจแก่พี่น้องชายหญิงในหน่วยงานของสันตะสำนักที่มีความซื่อสัตย์ เสียสละ อุทิศตน และมีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งได้มอบความเอื้ออาทรและความนบนอบรวมถึงคำภาวนาของพวกท่านให้กับพระศาสนจักรและผู้แทนของเปโตร

นอกนั้นกรณีที่มีการต่อต้าน  การสร้างปัญหา และความล้มเหลวจากปัจเจกบุคคลและสมณสงฆ์ล้วนเป็นบทเรียนมากมายและเป็นโอกาสช่วยให้พวกเราเติบโตมากขึ้นและไม่ต้องเสียกำลังใจ  นี่เป็นโอกาสที่ต้องทำให้พวกเราหวนกลับไปหาสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นจริงๆ ซึ่งหมายความว่าเราต้องตั้งมโนจิตเกี่ยวกับตัวเราและตระหนักให้ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับตัวเราเอง เกี่ยวกับพระเจ้า เพื่อนมนุษย์ ทั้งในความหมายของพระศาสนจักรและความเชื่อ (Sensus Ecclesiae et sensusfidei)

สิ่งที่พ่ออยากจะพูดวันนี้ก็เรื่องการหันกลับเข้าสู่สิ่งที่เป็นสาระสำคัญนี่แหละ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้พระศาสนจักรเริ่มเดินทางปีศักดิ์สิทธิ์แห่งพระเมตตา ซึ่งมีความหมายเร่งด่วนสำหรับพระศาสนจักรและพวกเราทุกคนให้ตระหนักรู้จักความกตัญญู การกลับใจ การฟื้นฟูชีวิต การใช้โทษบาป และการคืนดีกับพระเจ้า

คริสต์มาสเป็นการเฉลิมฉลองพระเมตตาอันหาขอบเขตมิได้อย่างแท้จริงของพระเจ้า ดังที่นักบุญเอากุสีโนแห่งฮิปโปบอกพวกเราว่า “จะมีความเมตตาที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ไหมที่พระเจ้าทรงประทานให้เรามนุษย์ผู้ปราศจากความสุขจนทำให้พระผู้สร้างสวรรค์เสด็จมาประทับท่ามกลางเรา และพระผู้สร้างโลกทรงเสด็จมาประสูติ รับเป็นมนุษย์ที่มีร่างกายที่รู้จักตายเหมือนพวกเรา?  ความเมตตาเดียวกันนี้นำให้เจ้านายแห่งโลกเสด็จมารับธรรมชาติของทาส ทรงยอมเป็นแผ่นปังเพื่อผู้ที่จะทนทุกข์กับความหิว  ทรงเป็นความอิ่มหนำบริบูรณ์เพื่อผู้ที่จะกระหาย  ทรงเป็นอำนาจเพื่อผู้ที่ลิ้มรสกับความอ่อนแอ  ทรงเป็นองค์แห่งความรอดเพื่อที่จะได้มีประสบการณ์กับความบาปของเรา  ทรงเป็นชีวิตเพื่อที่จะสิ้นพระชนม์  พระองค์ทรงกระทำสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อที่จะดับความหิว ประทานสิ่งที่ดวงวิญญาณพวกเราทรงปรารถนา ประทานพละกำลังให้กับความอ่อนแอของเราชำระล้างมลทินของเรา และจุดประกายไฟแห่งความรักเมตตาในดวงใจของเรา”

ผลที่ตามมาก็คือ ในบริบทปีศักดิ์สิทธิ์แห่งพระเมตตาและในโอกาสที่เรากำลังเตรียมตัวเฉลิมฉลองคริสต์มาสพ่อเองใคร่ที่จะเสนอการปฎิบัติบางประการเพื่อที่พวกเราทุกคนจะได้รับประสบการณ์ในเทศกาลแห่งพระหรรษทานนี้อย่างบริบูรณ์นี่มิได้หมายความถึงความครบครันบริบูรณ์สำหรับผู้ที่ทำงานในสมณกระทรวงต่างๆและสำหรับผู้ที่ใคร่ที่จะทำให้การถวายตนเองหรือการรับใช้พระศาสนจักรของตนให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น

พ่อใคร่ขอร้องสมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงต่างๆ (สำนักงานวาติกัน) รวมทั้งผู้ที่เป็นหัวหน้าในหน่วยงานของพระศาสนจักรได้ไตร่ตรองสิ่งนี้ ขอให้เพิ่มประเด็นนี้เข้าไป และจงทำให้สำเร็จ  พ่อขอเสนอเป็นรายการอันมีพื้นฐานจากการวิเคราะห์คำว่า “เมตตาธรรม” โดยตั้งเป้าที่จะทำให้พระเมตตาเป็นการรับใช้อย่างแท้จริงซึ่งจะต้องถือเป็นแนวปฎิบัติและกลยุทธิ์ของพวกเราดังต่อไปนี้:

  1. จิตตารมย์แห่งธรรมทูตและการอภิบาล:

จิตตารมณ์ธรรมทูตคือสิ่งที่ทำให้สำนักงานต่างๆแห่งสันตะสำนักอุดมสมบูรณ์และบังเกิดผลดีได้อย่างชัดเจนนี่คือการพิสูจน์ให้เห็นถึงความมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความเที่ยงแท้แห่งกิจกรรมของพวกเรา ความเชื่อเป็นพระพร แต่ระดับความเชื่อของเราจะสามารถเป็นที่ประจักษ์ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราสื่อความเชื่อนั้นอย่างไร?  ทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปล้วนเป็นธรรมทูตแห่งการประกาศข่าวดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการดำเนินชีวิต การทำงาน และการเป็นประจักษ์พยานถึงความชื่นชมยินดีและความเชื่อมั่น  การมีจิตตารมณ์แห่งการอภิบาลที่แท้จริงเป็นคุณธรรมสูงส่งหรือฤทธิ์กุศลซึ่งจะขาดเสียมิได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดาบาทหลวง ต้องแสดงออกให้เห็นในความพยายามประจำวันที่จะติดตามนายชุมภาบาลที่ดีผู้เอาใจใส่ดูแลฝูงแกะและยอมอุทิศชีวิตนเองเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น นี่เป็นตัวชี้วัดสำหรับพันธกิจต่างๆและงานสงฆ์ของพวกเรา หากปราศจากซึ่งสองสิ่งนี้เราไม่สามารถทำอะได้ ไม่สามารถแม้จะชื่นชมกับความสุขแห่ง “การเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์” (มธ. 25: 14-30)

  1. ชีวิตฝ่ายจิตและความฉับใวในการตัดสินใจ:

ชีวิตภายในหรือชีวิตฝ่ายจิตหมายถึงความพยายามส่วนตัวในความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาคุณสมบัติจำเป็นในการปฏิบัติภาระกิจหน้าที่ด้วยปัญญาและการมองการณ์ไกลให้ได้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้โดยไม่คำนึงว่าจะได้รับผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน  ส่วนการตัดสินใจอย่างฉับไวเป็นความพร้อมที่จะรับและเผชิญกับสถานการณ์ด้วยความเฉลียวฉลาดและมีความคิดสร้างสรรค์  ทั้งสองประเด็นนี้ยังหมายถึงการตอบสนองของพวกเราต่อพระหรรษทานของพระเจ้าด้วยเมื่อเรายินยอมปฎิบัติตามภาษิตสำคัญที่ว่า “จงทำทุกสิ่งเสมือนไม่มีพระเจ้า จากนั้นก็ให้มอบทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์เสมือนว่าพวกท่านไม่มีตัวตน”  นี่เป็นวิธีปฏิบัติของศิษย์ผู้ที่สวดภาวนาทุกวันต่อพระเจ้าด้วยบทภาวนาสากลของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 11 “โปรดพิทักษ์ข้าพเจ้าให้เดินในหนทางแห่งปรีชาญาณ ยับยั้งข้าพเจ้าให้อยู่ในความยุติธรรมของพระองค์ บรรเทาข้าพเจ้าด้วยพระเมตตา และปกป้องข้าพเจ้าด้วยอำนาจของพระองค์  ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะมอบตนเองแก่พระองค์ซึ่งความคิด วาจา การกระทำทุกอย่างของข้าพเจ้า เพื่อที่ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปข้าพเจ้าจะคิดถึงแต่พระองค์ พูดถึงแต่พระองค์ ทำทุกสิ่งและทนทุกข์ทรมานทุกอย่างเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ และข้าพเจ้ายอมทนทุกข์ทุกอย่างแล้วแต่พระองค์จะทรงพอพระทัยประทานให้”

  1. ชีวิตจิตและความเป็นมนุษย์:

ชีวิตฝ่ายจิตเป็นกระดูกสันหลังแห่งการรับใช้ทุกอย่างในพระศาสนจักรและในชีวิตคริสตชนนี่เป็นอาหารหล่อเลี้ยงกิจกรรมทุกอย่าง ช่วยทำนุบำรุงและปกป้องพันธกิจให้พ้นจากความอ่อนแอตามประสามนุษย์และการล่อลวงประจำวัน ความเป็นมนุษย์ห่อหุ้มความจริงแห่งความเชื่อ  ผู้ที่ปฎิเสธความเป็นมนุษย์ของตนจะปฎิเสธทุกสิ่ง  ความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราแตกต่างจากเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์ที่ไม่มีความรู้สึกและไม่ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์  เมื่อใดที่พวกเรารู้สึกอยากที่จะร้องไห้จนสะใจหรือหัวเราะแทบขาดใจ เมื่อนั้นพวกเราจะรู้สึกด้อยถอยหลังและเริ่มกระบวนการเปลี่ยน “ความเป็นมนุษย์” ไปสู่อย่างอื่น มนุษย์รู้ว่าจะต้องแสดงความอ่อนโยน ความซื่อสัตย์ และมารยาทต่อทุกคน (เทียบ ฟป. 4: 5)  ชีวิตจิตและความเป็นมนุษย์ในขณะที่เป็นคุณลักษณะภายในแต่ก็มีศักยภาพที่จำเป็นจะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้วจึงแสดงออกมาให้ปรากฎทุกวัน

  1. แบบฉบับและความซื่อสัตย์:

บุญราศีเปาโลที่ 6 เตือนสมณกระทรวงต่างๆที่ถูก “เรียกร้องให้เป็นแบบฉบับที่ดี” เป็นแบบฉบับในการหลีกเลี่ยงการเป็นที่สะดุดซึ่งทำร้ายวิญญาณและทำลายความน่าเชื่อถือแห่งการเป็นประจักษ์พยานของพวกเรา  ความซื่อสัตย์ต่อการถวายตนและต่อกระแสเรียก โดยรำลึกเสมอถึงพระวจนะของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “ผู้ใดซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อยก็จะซื่อสัตย์ในสิ่งใหญ่ด้วย และผู้ใดที่ไม่ซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อยก็จะไม่ซื่อสัตย์ในสิ่งใหญ่ด้วย” (ลก. 16: 10)  และ “ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดาๆที่มีความเชื่อในเราทำบาป ถ้าเขาจะถูกแขวนคอด้วยหินโม่ถ่วงลงใต้ทะเลก็ยังดีกว่าสำหรับเขา น่าเสียดายที่โลกนี้ยังมีผู้ที่เป็นเหตุให้มนุษย์ทำบาปต้องมีอย่างแน่นอน แต่วิบัติจงเกิดแก่ผู้นั้นเถิด” (มธ. 18: 6-7)

  1. เหตุผลและความสุภาพอ่อนโยน:

เหตุผลที่ถูกต้องช่วยพวกเราไม่ให้ใช้อารมณ์มากจนเกินไป ในขณะที่ความสุภาพอ่อนโยนช่วยเราให้หลีกเลี่ยงความเป็นเจ้านายเจ้าระเบียบจนเกินไปทั้งในเรื่องการวางแผนงานและการทำโครงการต่างๆ คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุคลิกภาพที่สมดุล “ศัตรูจะใช้ความระมัดระวังมากกว่าดวงวิญญาณนั้นหยาบหรือละเอียดมันจะหาทางทำให้วิญญาณนั้นใช้ความละเอียดจนเกินไปเพื่อสร้างความสับสนสิ้นหวังให้กับดวงวิญญาณนั้น” ทุกๆการกระทำที่มากเกินไปคือสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลบางอย่างในชีวิต

  1. การไร้พิษภัยและการตัดสินใจ:

การตั้งใจไม่ทำอะไรให้เสียหายทำให้เราระวังตัวในการตัดสินใจและสามารถที่จะระงับการกระทำที่รีบร้อนจนเกินไปนี่เป็นความสามารถที่จะนำสิ่งที่ดีที่สุดในตัวออกมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่นในทุกสถานการ์โดยการกระทำอย่างรอบคอบตั้งอกตั้งใจ  มันอยู่ที่ว่าเราเองปฎิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่เราต้องการให้เขาปฎิบัติต่อเรา (เทียบ มธ. 7: 12 และ ลก. 6: 31) การตั้งใจอย่างเด็ดขาดเป็นการกระทำด้วยอำเภอใจเด็ดเดี่ยวมีวิสัยทัศน์ชัดเจน มีความนบนอบต่อพระเจ้า และทำไปเพื่อกฎสูงสุดแต่ประการเดียว นั่นคือ เพื่อความรอดแห่งดวงวิญญาณ “Salusanimarum” (เทียบ CID can. 1725)

  1. ความรักเมตตาและความจริง:

นี่เป็นฤทธิ์กุศลสองประการที่จะแยกออกจากกันมิได้ “ต้องพูดความจริงในความรักและแสดงความรักเมตตาในความจริง” (เทียบ อฟ. 4: 15)  ความเมตตาที่ปราศจากความจริงจะกลายเป็นอุดมการณ์บ่อนทำลายแห่งความพึงพอใจส่วนตัว และความจริงที่ปราศจากความรักเมตตาจะกลายเป็นเพียงกฎหมายประเภทพวกที่มีสายตาสั้น

  1. ความซื่อสัตย์และความเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ:

ความซื่อสัตย์เป็นการทำอะไรที่ตรงไปตรงมาทำอย่างสม่ำเสมอและทำด้วยความจริงใจทั้งต่อตัวเราเองและต่อพระเจ้า  คนที่ซื่อสัตย์ไม่ประพฤติอย่างมีคุณธรรมเพียงแค่เมื่อมีคนเห็นเท่านั้นคนที่ซื่อสัตย์จะไม่กลัวที่จะถูกจับผิด เพราะเขาไม่เคยทรยศความไว้ใจของผู้อื่น คนซื่อสัตย์ย่อมไม่ทำตนเหนือผู้อื่นดุจ “คนรับใช้ใจชั่ว” (เทียบ มธ. 24: 48-51) ทั้งเกี่ยวกับบุคคลหรือเรื่องราวที่มอบให้ตนเป็นผู้ดูแลเอาใจใส่  ความซื่อสัตย์เป็นรากฐานที่คุณสมบัติที่ดีอื่นๆตั้งอยู่   ส่วนวุฒิภาวะเป็นการแสวงหาที่จะได้มาซึ่งสมดุลและความกลมกลืนสมานฉันท์แห่งพระพรฝ่ายกาย ปัญญา และจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเป้าหมายและผลแห่งกระบวนการที่ไม่มีวันจบสิ้นแห่งการพัฒนาที่ไม่เกี่ยวกับอายุขัย

  1. การรู้จักให้ความเคารพและความสุภาพ:

การรู้จักให้ความเคารพเป็นพรของดวงวิญญาณที่ประเสริฐและมีทักษะซึ่งพยายามอยู่เสมอที่จะแสดงความเคารพอย่างจริงใจต่อผู้อื่น ต่องานของตน ต่อผู้ใหญ่และผู้น้อย ต่อเอกสารลับ รู้จักรักษาความลับ ต่อความไว้วางใจและความลับของผู้อื่น เขาสามารถฟังผู้อื่นได้อย่างตั้งอกตั้งใจและพูดจาด้วยความสุภาพ  ความสุภาพเป็นคุณธรรมของนักบุญและผู้ที่เป็นคนใกล้ชิดของพระเจ้า  ยิ่งวันพวกเขาจะยิ่งรู้สึกว่าตนไม่เป็นอะไรเลย ไม่สามารถทำอะไรได้เลยหากปราศจากซึ่งพระหรรษทานของพระเจ้า (เทียบ ยน. 15: 8)

  1. ความขยันและความตั้งอกตั้งใจ:

ยิ่งพวกเราจะวางใจในพระเจ้าและการจัดการของพระองค์เพียงใดเราก็ยิ่งจะเจริญเติบโตในความขยันและความพร้อมที่จะมอบตนเองแก่พระเจ้าและผู้อื่นด้วยทราบว่ายิ่งพวกเราจะให้เราก็ยิ่งจะได้รับ จะมีประโยชน์อันใดหากจะเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์แห่งมหาวิหารทั่วโลก หากประตูแห่งดวงใจของเราถูกปิดตายให้กับความรัก หากมือของพวกเรามัวแต่หดเห็นแก่ตัวไม่ยอมยื่นให้ผู้อื่น หากบ้านของพวกเราปิดประตูไม่ให้การต้อนรับใครเลย หากวัดปิดไม่ให้การต้อนรับและไม่ยอมรับผู้ใด  ความตั้งอกตั้งใจเป็นความห่วงใยต่อสิ่งเล็กน้อยและทำดีที่สุดโดยไม่ยอมแพ้ต่อความชั่วและความอ่อนแอของเรา ดังที่นักบุญวินเซนต์ เดอ ปอล ชอบภาวนาดังนี้ว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดประทานให้ข้าพเจ้าตระหนักเสมอถึงบุคคลที่อยู่รอบตัวข้าพเจ้า ผู้ที่มีความกังวลใจและท้อแท้สิ้นหวัง ผู้ที่ทนทุกข์อยู่ในความเงียบ และผู้ที่รู้สึกถูกโดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้งด้วยเทอญ”

  1. ความกล้าที่ไม่ยอมย่อท้อและความตื่นตัว:

ความกล้าหาญชาญชัยหมายถึงการไม่รู้จักกลัวเมื่อต้องเผชิญกับปัญหายุ่งยากในชีวิต ดุจดาเนียลในถ้ำสิงโต หรือดาวิดต่อหน้าโกไลแอ็ทนี่หมายถึงการกระทำด้วยความกล้าหาญ ตั้งใจ และด้วยความเด็ดขาด “ดุจทหารที่ดี” (2 ทต. 2: 3-4)  อันหมายถึงความพร้อมโดยทันทีที่จะย่างเท้าก้าวแรกออกไปเฉกเช่นบิดาอับบราฮัม หรือพระนางมารีย์  ส่วนการตื่นตัวนั้นเป็นความสามารถที่จะกระทำการอย่างอิสระเสรีและอย่างง่ายดายโดยไม่ติดใจอยู่กับสิ่งที่เป็นวัตถุ บทเพลงสดุดีกล่าวว่า “หากทรัพย์สมบัติของท่านเพิ่มทวีขึ้น ก็จงอย่าได้ไปใส่ใจมัน” (สดด. 61: 10)  การตื่นตัวหมายถึงการก้าวไปข้างหน้าเสมอ ไม่ติดอยู่กับการสะสมสิ่งที่ไม่จำเป็น ติดกับอยู่ในความกังวลเรื่องของตนเองและถูกนำด้วยความทะเยอทะยาน

  1. การเป็นผู้ที่น่าไว้วางใจและรู้จักความพอดีของการดิ่มสิ่งมึนเมา:

บุคคลที่น่าไว้วางใจที่สุด คือผู้ที่รักษาเกียรติในการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังและมีความรับผิดชอบทั้งยามที่มีคนเห็นและไม่เห็น ที่สำคัญคือ เมื่อเขาอยู่ตามลำพัง  พวกเขาจะเด่นมากเรื่องความสงบ เพราะเขาไม่เคยทำให้คนที่ไว้ใจเขาให้ต้องผิดหวัง สำหรับการรู้จักความพอดีในการกินการดื่มซึ่งเป็นคุณธรรมที่พ่อพูดลำดับสุดท้าย ไม่ใข่เพราะว่ามันมีความสำคัญน้อยที่สุด เป็นความสามารถที่จะปฎิเสธเสธอะไรที่มันเกินไปและต่อต้านจิตตารมณ์แห่งบริโภคนิยม  การรู้จักความพอดีเป็นความเฉลียวฉลาด เป็นความเรียบง่าย เป็นการกระทำที่ตรงไปตรงมา รู้จักความสมดุลและรู้จักควบคุมตนเอง การรู้จักความพอดีเป็นการมองโลกโดยผ่านสายพระเนตรของพระเจ้าและจากมุมมองของคนยากจน  การรู้จักความพอดีเป็นวิถีการใช้ชีวิตที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นเลิศของผู้อื่นในฐานะที่เป็นหลักการของสมณะ บรรดผู้นำศาสนจักร และแสดงออกในชีวิตแห่งความห่วงใยและการรับใช้ผู้อื่น  ผู้ที่รู้จักความพอดีจะเป็นคนที่เสมอต้นเสมอปลายและเป็นผู้ที่ตรงไปตรงมาในทุกสิ่ง  เพราะว่าพวกเขาสามารถลดละค้นพบ  รีไซเกิ้ล(Recycle) ซ่อมบำรุง และดำเนินชีวิตแห่งการเจียมตน

(สันตะปาปาฟรังซิส ณ วังวาติกัน วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2015)
(นำเสนอ จาก สถานีวิทยุวาติกัน โดย มองซินญอร์ วิษณุ ธัญญอนันต์)