Skip to content

จาริกเพื่อพระคริสต์

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อย้อนรอยมิชชั่นเนรี่แบบเดินเท้าเพื่องานแพร่ธรรม
  2. เพื่อร่วมฉลอง 50 ปี คณะภคนีแพร่ธรรมแห่งพระนางมารีย์นิรมล

หลักการคือ เดินท้า 5 วัน แต่ใครจะเริ่มต้นที่ที่ไหนวันไหนก็ได้ ระหว่างวันที่ 3-7 ธันวาคม 2558

 

การจาริกเริ่มต้นในวันที่ 3 ธันวาคม 2558  ที่บ้านห้วยโปงเลา  ต.แม่กิ๊  อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน  วันแรกของการจาริก มีผู้เข้าร่วม 9 ท่าน คือ พ่อสมพงษ์ เจ้าของโครงการ  คุณพ่อบุญเลิศ  คุณพ่อวศิน คุณพ่อศักดิ์ชัย พร้อมกับคุณพ่อไพโรจน์หนึ่งเดียวจากเบธาราม  มีซิสเตอร์คณะแม่ปอน 2 ท่านคือ ซิสเตอร์ศรีออน  และซิสเตอร์พิสมัย  ครูคำสอนและชาวบ้านอีกหนึ่งท่าน  โดยมีผู้นำทางจากหมู่บ้านห้วยโปงเลาอาสาไปส่งครึ่งทาง  การเดินทางเริ่มต้นประมาณ 08.30 น. ช่วงแรกของการเดินทางนั้นเป็นการเดินทางในป่าจริง ๆ เพราะต้องขึ้นเขาลงห้วย ลุยแม่น้ำลำธาร ระหว่างการเดินทางเราก็จะสวดสายประคำร่วมกัน วันละ 3 สาย ส่วนสวดส่วนตัวนั้นกี่สายก็ได้  เช้านี้ใช้เวลาประมาณสี่ชั่งโมงก็ถึงหมู่บ้านทุ่งวางกว้าง  จึงตัดสินใจทานอาหารเที่ยง ซึ่งชาวบ้านได้เตรียมข้าวและกับสำหรับมื้อเที่ยงให้กับเรา  โดยที่แต่ละคนรับผิดชอบแบกมาเอง  หลังอาหารเที่ยงผู้นำทางก็กลับไป  พวกเราก็เดินต่อ แต่ครึ่งหลังของวันนี้เราต้องเดินตามทางรถยนต์ช่วงแรกเป็นการเดินทางแบบถนนที่เป็นมีฝุ่นบ้างประมาณ 5 กิโลเมตร  หลังจาก 5 กิโลเมตรผ่านไป  ก็เป็นถนนคอนกรีตอีก 16 กิโลเมตรเป้าหมายคือค้างคืนที่บ้านแม่โถ  ซึ่งคุณพ่อเจริญได้เตรียมการต้อนรับพวกเราตั้งแต่ตอนบ่ายแล้ว  แต่การเดินทางวันแรกที่ใช้ระยะทางมากกว่า 30 กิโลเมตรก็ทำให้สมาชิกหลายคนเหนื่อยล้าอย่าง  บางคนถึงกับต้องนั่งรถมอเตอร์ไซค์ (พ่อวศิน)  แต่นึกได้ว่าต้องซื่อสัตย์ต่อจิตตารมณ์การเดินเท้า จึงต้องนั่งรถย้อนกลับมาที่เดิมเพื่อที่จะเดินเท้าอีกครั้งหนึ่ง  วันนี้กลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงแม่โถ(เห็นแก่ตัวหน่อยไม่รอเพื่อน) คือ คุณพ่อบุญเลิศและพ่อไพโรจน์ (18.00 น) กลุ่มที่สองที่มาถึงคือซิสเตอร์ 18.45 น.และกลุ่มสุดท้ายมาถึงคือพ่อสมพงษ์ 19.00 น. หลังจากอาบน้ำเราก็ร่วมมิสซากับชาวบ้าน  (มิสซาทุกวันก็เป็นมิสซาตอนเย็น เพราะชาวบ้านที่เราไปค้างคืนที่หมู่บ้านก็จะต้อนรับเราด้วยอาหารและร่วมมิสซาด้วยกัน)  วันแรกผ่านไปด้วยความยากลำบากสำหรับพ่อบางองค์ ถึงกับต้องหาหมอนวดสมัครเล่นมาทำหน้าที่ทีเดียว แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่มีปัญหา

 

วันที่สองของการจาริก  จากการคำนวณแล้ววันนี้เป็นระยะทางที่สั้นที่สุดประมาณ 25 กิโลเมตร การเดินทางของเราก็พยายามเดินตามเส้นทางของมิชชั่นเนรีสมัยก่อนให้มากที่สุด  เพราะเป็นทางลัด  แต่จากการที่มีถนนแล้ว ไม่มีการใช้เส้นทางเดิมเป็นเวลาหลายสิบปี  ร่องรอยของเส้นทางจึงหายไปบ้าง  จึงต้องหาผู้นำทางที่รู้เส้นทางอย่างดีมานำทางเรา  วันนี้เราสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 3 ท่านโดยคุณพ่อเจริญร่วมเดินทางไปด้วย เริ่มเดินทางประมาณ 08.00 น. ด้วยเส้นทางลัดเลาะตามป่าแบบสมัยก่อน  แต่เมื่อไปได้สักพักหนึ่งร่องรอยก็เริ่มหายไป  ประกอบกับการเดินทางที่ความเร็วไม่เท่ากัน กลุ่มที่หนึ่งเดินตามผู้นำทาง  ส่วนกลุ่มที่เดินทีหลังจึงหลงทางไปนอกเส้นทาง  แม้ว่ากลุ่มแรกจะรอกลุ่มหลังมากกว่าชั่วโมงแล้ว  ยังไม่มีวี่แววว่าจะโผล่มา  กลุ่มแรกทานอาหารเที่ยงเวลา 12.30 น. เมื่อรอกลุ่มสองไม่ไหวก็เลยเอาข้าวและกับสำหรับมื้อเที่ยงใส่ในย่ามและแขวนไปบนต้นไม้ตรงเส้นทางที่คาดว่าจะมาโผล่มาทางนั้น  แล้วกลุ่มแรกก็เดินทางต่อไปจนถึงหมู่บ้านประมาณ 15.30 น. หลังจากได้สักพักแล้วมีคนโทรมาบอกว่าให้ไปรับคุณพ่อคนหนึ่งด้วย เพราะหลงทางออกไปไกลกลับมาไม่ไหว ส่วนคนที่เหลือกลัวเสียจิตตารมณ์จึงแข็งใจเดินทางมาถึงหมู่บ้านประมาณ 19.00 น. เท่ากับเมื่อวานและก็เป็นกลุ่มเดิม  ชาวบ้านได้เตรียมอาหารรอตั้งแต่ตอนบ่ายแล้วเช่นกัน  หลังมิสซาเจ้าวัดพ่อสมพงษ์ได้แนะนำสมาชิกพร้อมกับแบ่งปันนิดหน่อย  พ่อเจริญบอกว่าเป็นวันแรกและวันเดียวที่ตั้งใจเดินซึ่งซึ่งเกิดความผิดพลาดต้องใช้เวลาถึง 11 ชั่วโมงงานเป็นประธานวันพ่อที่วัดของพ่อในเย็นวันนั้นก็ยกเลิกไปโดยปริยาย  ส่วนพ่อสมพงษ์ได้บอก เปรียบตัวเองเหมืองลิงลม ยิ่งตี ยิ่งมีพลัง (มีคนบอกว่า ลิงลมนั้นตีด้วยไม้แข็งมันจะไม่ตาย แต่ถ้าตีด้วยไม่ผุ ๆ ก็จะตายง่าย ฟังไว้ไม่เชื่อก็ไม่ว่ากัน)

 

วันที่ 3 ของการจาริก  วันนี้เป้าหมายไกลพอ ๆ กับวันแรกจึงต้องเดินทางแต่เช้าประมาณ 07.00 น. ที่น่าเสียดายวันนี้พ่อคนหนึ่งก็ต้องจากเราไป (ไม่ได้ตายนะครับเพียงแต่สู้เต็มที่แล้วพ่อบอกว่าไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องเดินทางกลับวัด (พ่อวศิน) เพราะเป็นฝีด้วย  การเดินทางวันนี้ก็มีผู้ร่วมทางเพิ่มขึ้นอีก 4 คน โดยคนหนึ่งอายุ 74 ปี เดินทางจากขุนแม่ลา ผ่านบ้านห้วยเฮี๊ยะ  ไปทางลัดผ่านยังบ้านส้มป่อย ที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 5 คน โดยมีผู้ชาย 1 แม่บ้าน 2 และเด็กผู้หญิงอีก 2 คน คนหนึ่งอายุ 13 ขวบ ผ่านหมู่บ้านนี้แล้วไปหมู่บ้านอมลานก่อนที่จะขึ้นดอยสูงก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยดีเกิดขึ้น  มีลุงคนหนึ่งเป็นคนขี้เมา  มีความตั้งใจที่จะไปกับพวกเรา  แต่หลายคนรู้ว่าถ้าคนนี้เมาแล้ว ไม่ได้สติ จะโวยวาย  ถอดเสื้อผ้า จึงกลัวกันว่าถ้าไปกับพวกอาจจะทำให้เกิดปัญหาเวลาที่เราพักค้างคือตามหมู่บ้าน  พ่อสมพงษ์จึงออกคำสั่งไม่ให้ชายคนนี้ไปกับเรา  ซึ่งก็จ้างคนไปส่งที่บ้านเขา  จากบ้านอมลานนี้เราต้องขึ้นดอยสูงขนาดที่เราต้องยอมแพ้ จึงต้องทางอาหารเที่ยงกลางดอยเลยทีเดียว  เพราะความชันและความสูงยาวหลายกิโลเมตร  สูงขนาดทานอาหารเที่ยงท่ามกลางหมอกเลยทีเดียว (จริงครับไม่ได้โม้) จากตรงนี้ต้องไปที่หมู่บ้านกองเบาะ (ที่จริงคืนนี้แผนแรกนั้นจะต้องนอนในป่า แต่เนื่องจากเมื่อคืนฝนตกหนัก  จึงเปลี่ยนแผนไปนอนที่หมู่บ้านแทน เพราะนอนในป่าคงไม่สะดวก ฝืนที่พักก็จะชื้นแฉะมากเกินไป) ส่วนผมก็แยกตัวไปหมู่บ้านดินขาว เพื่อทำมิสซาในเช้าวันอาทิตย์

กลุ่มที่พักที่หมู่บ้านกองเบาะ เป้าหมาต่อไปคือหมู่บ้านแม่แลก  การเดินทางในวันที่ 4 นี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 1 คนคือ พ่อศตวรรษ หรือพ่อดอย ซึ่งนัดกันว่าหลังมิสซาสายที่บ้านดินขาวแล้ว ผมจะนั่งรถไปดักรอที่แม่แจ่ม ที่ดินขาวนี้มาเซอร์อักแนสอธิการโรงเรียนเซนต์โยเซฟแม่แจ่ม ได้ให้เด็กนักเรียน 3 คนร่วมเดินทางกับผม โดยมาเซอร์ให้คนขับรถไปส่งเราที่แม่แจ่ม  เท่ากับว่าวันนี้เรามีสมาชิกเพิ่มขึ้น 4 คน  พอไปถึงแม่แจ่มสมาขิกเก่าก็ถอนตัวไปอีก 2 คน เพราะขาแพลง บวมมากจึงไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ การเดินทางของเรากลุ่มก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน  จากแม่แจ่มไปที่หมู่บ้านแม่แลกนั้นสมาชิกในขบวนไม่มีใครรู้เส้นทางเลยแม่แต่คนเดียว  จึงต้องอาศัยการสอบถามจากชาวบ้านกลางทาง และที่แม่แลกนี้เองสมาชิกในกลุ่มของเราเองก็ไม่รู้จักชาวบ้านด้วย แต่เชื่อไหมครับ ขึ้นชื่อว่าปกาเกอะญอด้วยกัน  ยังไงเขาก็ต้อนรับ แม้จะโชคไม่ดีที่เราไปถึงหมู่บ้านค่ำมากแล้ว จึงไม่รู้จะติดต่อกับใคร  แต่ที่โชคดีคือที่นี่มีคริสตชนครอบครัวหนึ่งและเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย  การเจรจาไม่ถึงนาทีทุกอย่างก็เรียบร้อย  ทั้งยังมีครอบครัวอื่นรับเราไปนอนที่บ้านด้วยความรู้ชื่นชมยินดี ผมกับพ่ออีกคนหนึ่งและซิสเตอร์ 2 ท่าน ไปนอนที่บ้านครอบครัวหนึ่งที่ไม่ใช่คริสตชน  เขาได้เตรียมอาหารต้อนรับเราอย่างดี  ขอบคุณพระเจ้าสำหรับความมีน้ำใจดีของชาวบ้านเหล่านี้ คืนนี้ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี

และแล้วก็ถึงวันสุดท้ายของการเดินทาง เป้าหมายคือหมู่บ้านแม่ปอน ไม่เกินบ่ายสี่โมง  เพราะได้แจ้งพระคุณเจ้ามารอรับขบวนผู้จาริกที่นั่น  เช้าวันที่ 5 ของการเดินทางนี้ มีสมาชิกมาสมทบจากบ้านป่าจึงอีก 4 คน  พวกเราก็เริ่มเดินทาง 07.00 น.  เพราะกังวลว่าจะไม่ทันกับอีก 2 กลุ่มที่จะมารวมกันก่อนหมู่บ้านแม่ปอน คือกลุ่มที่มาจากเขตห้วยตอง และเขตแม่ปอนตะวันออกซึ่งนำโดยพ่อธินากรหรอืพ่อแชะ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็มาจากเขตแม่ปอนฝั่งตะวันตกนำโดยครูคำ  ซึ่งระยะทางทั้งสองกลุ่มหลังนี้สั้นกว่าของพวกเรา และพวกเขาจะเดินแค่วันเดียวด้วย  ส่วนพวกเราที่เริ่มออกเดินทางแต่เช้า  เพื่อที่จะข้ามเทือกเขาอินทนนท์ฝั่งตะวันตกมาทางฝั่งตะวันออกโดยที่ไม่ใช้เส้นทางรถยนต์นั้น  จำเป็นต้องมีผู้ที่รู้เส้นทางจริง ๆ เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะหลงอยู่ในป่าทืบอาจจะหาทางออกไม่ได้ก็เป็นได้  แต่ทุกอย่างหายกังวลเพราะมีชาวบ้านคนหนึ่งอาสามาพาเราไป  เหนือความคาดหมาย เพราะเส้นทางที่ผู้นำทางเราพาไปนั้น  ผมยอมรับว่า สุดยอดจริง ๆ ผมคนหนึ่งที่ผ่านภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ไม่ว่าทางฝั่งสาละวิน หรือทางฝั่งอมก๋อยแม่กระทั่งดอยหลวงเชียงดาวก็เคยขึ้นไปถึงยอดมาแล้ว  วันนี้ผมรู้สึกว่า  ภูเขาที่ผมเคยผ่านมานั้นชิดขอบเลย  อาจจะด้วยการที่พวกเราเดินทางมา 4 วันแล้ว ฉะนั้นวันนี้ก็ถือว่าเป็นการอออกแรงเฮือกสุดท้ายนี้ หรือจะเรียกว่าแข็งใจสู้  เพราสมาชิกหลายท่านที่ปวดเข่า เจ็บเท้า เพราบางคนมีแผลใต้ฝ่าเท้าด้วย แต่ทุกคนไม่บ่น นอกนั้นยังไม่พอ พ่อสมพงษ์ยังนำเราสวดสายประคำขึ้นดอยด้วย พี่น้องครับถ้าเราหายใจไม่ทั่วท้อง เราจะสวดให้สุดได้อย่างไร  แต่ด้วยความพยายามทุกคนก็รวมพลังไม่มีใครบ่น  ปกติผมจะดื่มน้ำหลังอาหารเที่ยงเป็นต้นไป แต่วันนี้ผมขึ้นยังไม่ถึงยอดดอยเลย น้ำ 1 ขวดเล็กที่เตรียมไว้ก็ไม่เหลือแล้ว  แต่ก็ยังมีลำธารที่เย็นประมาณน้ำในตู้เย็นเลยที่เดียว  อากาศเย็นขนาดที่เราขึ้นดอยแม้จะร้อนเหงื่อจะออก พักแค่นาทีเดียวก็หนาวแล้ว ฉะนั้นเวลาพักทานอาหารเที่ยงกลางป่าหลายคนต้องใส่เสื้อกันหนาว  การเดินทางกว่าจะฝ่าเทือกเขานี้ไปถึงถนนอีกฝากหนึ่งได้ใช้เวลาเกือบ 8 ชั่วโมง  เมื่อมาถึงถนนฝั่งอินทนนท์ตะวันออก คนนำทางก็กลับไป จากนี้เป็นต้นไปก็เหลือแต่พวกเรา  ซึ่งเป้าหมายข้างหน้านั้นอีกยาวเท่าไหร่ก็ไม่มีใครรู้  แม่แต่พ่อสมพงษ์ เจ้าของโครงการนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน  แล้วจะถามกันเสียเวลาทำไม  ทุกคนก็มุ่งหน้าไปข้างหน้า พร้อมกับติดต่อประสานกับกลุ่มอื่นไปรอนัดพบ  ขณะที่พวกเราพึ่งจะข้ามเทือกเขามา  พวกเขาก็ถึงจุดนัดพบแล้ว  เวลาประมาณ 14.30 น. แต่พวกเราเหลืออีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้  พอเดินไปได้สักพัก ก็เห็นป้ายบอกเส้นทางว่าหมู่บ้านนี้กี่กิโลเมตร  เราก็คำนวณกันว่าอีก 11 กิโลเมตร ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงครึ่ง  แต่ด้วยความเหนื่อยล้าและความเจ็บปวด  การเดินทางเริ่มช้าลง  เพราะต้องรอคนอื่นที่อ่อนแรง  แม้จะใจสู้ก็ตาม  สุดท้ายผู้นำจึงตัดสินใจให้สมาชิกคนหนึ่งนั่งรถมอเตอร์ไป  เพราะปวดเข่ามาก  แม้เขาอยากจะเดินเท้าไปถึงหมู่บ้านก็ตาม การเดินทางในช่วงสุดท้าย  จากเป้าหมายบ่ายสี่โมงที่เรานัดพบกัน  เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว  จึงติดต่อกับกลุ่มที่รออยู่ก่อนว่า  ถ้าไม่อยากรอก็ให้เข้าไปก่อน พี่น้องครับน้ำใจไม่มีซื้อขาย  พวกเขาตัดสินใจที่จะรอพวกเรา (ที่จริงพวกเขารอเรามากว่า 3 ชั่วโมงแล้ว)  แม้จะมาถึงมืดก็ตาม  โชคดีที่พวกเราได้เตรียมไฟฉายมากัน เพราะเราเดินทางกันมาหลายวัน  ฉะนั้นเวลาประมาณ 1 ทุ่มเราก็พบกัน  จากนั้นเราก็ร่วมขบวนกันไปยังที่วัด  เพราะข้อตกลงคือว่า เมื่อเรามาถึงที่แล้ว เราจะไปที่วัดก่อน เพื่อสวดภาวนาโมทนาคุณพระเจ้า เนื่องจากเย็นนั้นมีพิธีมิสซารับเข้าโนวิสของคณะ ซึ่งได้จัดที่เวทีสำหรับงานฉลองในวันรุ่งเช้า ที่วัดไม่มีคนจึงเข้าไปสวดภาวนารวมกัน  หลังจากสวดแล้วพ่อสมพงษ์ถามสมาชิกว่า จะให้ทำมิสซาเมื่อไหร่  สมาชิกเสนอว่าให้ทำมิสซาไปเลย  ฉะนั้นการจาริกครั้งนี้จบลงด้วยมิสซาขอบพระคุณพระเจ้า สำหรับพระพรที่พระองค์ประธานให้กับเราตลอดการเดินทาง ซึ่งพ่อสมพงษ์กล่าวในบทเทศน์ว่า แม้เราที่เดินทาง 5 วัน กับคนที่เดินทางวันเดียวก็ได้หนึ่งตาแลนต์เท่ากัน พระเจ้ามีเมตตาเสมอ

(ยังมีเรื่องราวดี  ๆ อีกมากมายในช่วงการเดินทาง  มีพ่อคนหนึ่งช่วยแบกเป้ให้ป้าที่เจ็บเท้า  มีเด็ก ๆ เยาวชนที่ช่วยแบกเป้ให้พ่อสมพงษ์  มีสมาชิกคอยเพื่อที่เดินช้า  มีการแบ่งปันอาหาร น้ำให้กัน มีคำพูดให้กำลังใจกัน  มีความรู้สึกดี ๆ มากมาย  การเดินทางที่มีเป้าหมายชัดเจนไม่จำเป็นต้องซื้อด้วยเงิน  ทุกอย่างทำด้วยน้ำใจ)  ขอบทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการเดินทางจาริกครั้งนี้ ไม่ว่าคุณพ่อเจ้าวัดในเขตวัดต่าง ๆ ชาวบ้านที่ต้อนรับและให้ที่พักอาศัย  สำหรับข้าวทุกมื้อที่ให้เราอิ่มและน้ำทุกหยดที่ดับกระหาย (เจอกันโอกาสหน้าครับ)