อาทิตย์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา 30 สิงหาคม 2015
บทอ่าน ฉธบ 4:1–2, 6-8 ; ยก 1:17–18, 21ข-22, 27 ; มก 7:1–8, 14-15, 21-23
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 574, 582, 1764, 2196
จุดเน้น ข่าวดีของพระเยซูเจ้าเป็นทั้งบทบัญญัติของพระเจ้า และพระหรรษทานที่ให้ชีวิต
ในสมัยแรกๆ พระศาสนจักรคาทอลิกเผชิญการคุกคามอย่างหนักในการประกาศพระวรสาร เริ่มด้วยคำสอนต่างๆ ของมาร์คีออน (Marcion)
เขาเกิดราวปี ค.ศ. 85 ปัจจุบันคือที่ตุรกี ในช่วงแรกของศตวรรษที่ 2 เพียงรุ่นแรกหลังสมัยบรรดาอัครสาวก เขาหาวิธีประกาศความเชื่อว่า พระวรสารของพระเยซูเจ้าขัดกับกิจการและบทบัญญัติของพระเจ้าที่ได้เผยแสดงในพันธสัญญาเดิม
ศิษย์ของมาร์คีออนจะมีพระคัมภีร์เล่มเล็กกว่าที่เรารู้จักในปัจจุบัน เขาสนใจเฉพาะจดหมายของนักบุญเปาโลและพระวรสารของนักบุญลูกาเท่านั้น ที่พระจิตเจ้าดลใจให้เขียน
พี่น้องวาดมโนภาพได้ บรรดาผู้นำของพระศาสนจักรได้คัดค้านความคิดต่อศาสนาคริสต์ของมาร์คีออน เรายังคงนับถือพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ตั้งแต่สมัยแรกๆ พระศาสนจักรคาทอลิกยอมรับทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ทั้งความยุติธรรมและเมตตาธรรม ทั้งบทบัญญัติและพระหรรษทาน
นี่เป็นข้อเท็จจริงสำคัญในชีวิตของพระศาสนจักรที่เราต้องจดจำ ดังที่บทอ่านต่างๆ ในวันนี้ เพราะหากพิจารณาผิวเผิน พี่น้องอาจเห็นว่าขัดแย้งกัน
บทอ่านจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ โมเสสสอนชาวอิสราเอลให้ยอมรับเพื่อความดีของตนเอง บทบัญญัติที่พระเจ้าได้เปิดเผย (ความจริง) ต่อโมเสสบนภูเขาซีนาย อีกด้านหนึ่ง เรามีบทอ่านจากพระวรสารของนักบุญมาระโก ซึ่งดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าปฏิเสธการถือขนบธรรมเนียม (Legalism) ของชาวฟาริสี พระเยซูเจ้าสอนเน้นความเชื่อที่ออกมาจากหัวใจมากกว่า
มาร์คีออนอาจเคยใช้สองบทอ่านนี้อ้างเพื่อสนับสนุนคำสอน (ผิดๆ) ของเขา หลายคนปัจจุบันอาจถูกล่อลวงให้กลับไปสู่ลัทธิทวินิยมโบราณ ถือศาสนาคริสต์ว่าเน้นแต่เพียงคำสอนด้านศีลธรรมเคร่งครัด หรือพยายามเปลี่ยนแปลงคำสอนต่างๆ เพื่อดูเหมือนปรับความเชื่อให้เหมาะกับสภาพสังคมมากกว่า
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสในบทเทศน์ไม่นานมานี้ ได้สอนเราให้อย่าหลงการประจญต่างๆ ในชีวิตของพระศาสนจักร การประจญหนึ่ง คือ การไม่ยืดหยุ่นกับกฎเกณฑ์ ซึ่งมีเช่นนี้ตั้งแต่สมัยของพระเยซูเจ้าแล้ว
ในเวลาเดียวกัน สมเด็จพระสันตะปาปาได้เตือนเรา อย่าหลง “เมตตาธรรมลวงตา ที่เย็บบาดแผลโดยไม่เยียวยารักษาก่อนและค่อยจัดการ” พระองค์กล่าวว่า เป็นการประจญของ “คนทำความดี” ด้วยความกลัว และที่เรียกว่า “พวกก้าวหน้าและพวกใจกว้าง” ด้วย
สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสสอนต่อเนื่องกับสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ในบทเทศน์มิสซาเริ่มสมณสมัย ค.ศ. 2005 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ได้ตรัสว่า ประชาชนมากมายในพันปีใหม่นี้ กลัวการยอมรับความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าจะจำกัดอิสรภาพของเรา โดยต้องแบกภาระกฎศีลธรรมเคร่งครัด
“ถ้าเรายอมรับพระคริสต์เข้ามาในชีวิต เราไม่เสียไรเลย ไม่มีอะไรเสีย ไม่มีอะไรเสียจริงๆ เพราะช่วยเราให้มีชีวิตอิสระสวยงาม และเยี่ยมยอด… เพียงแต่มิตรภาพนี้เป็นประตูแห่งชีวิตได้เปิดกว้าง เพียงแต่ในมิตรภาพนี้เป็นพลังยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่ได้รับการเผยแสดงแล้วจริงๆ เพียงแต่ในมิตรภาพนี้ทำให้เรามีประสบการณ์สวยงาม และการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ”
ที่นี่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์แสดงด้านบวกของการประจญ ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้บรรยาย แทนที่จะตกไปในการประจญหรือให้ติดกับพระวรสาร สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์เชิญทุกคนให้เข้าไปสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า ผู้ทรงประทานอิสรภาพแท้ ซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงโดยกฎแห่งชีวิต ความรัก และการมอบชีวิตของพระองค์แก่เรา
คำสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาทั้งสองมาจากธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ และพระวรสารของพระเจ้า ทั้งสองพระองค์สะท้อนสิ่งที่เราได้ยินวันนี้ ในบทอ่านที่สองจากจดหมายนักบุญยากอบ “จงปฏิบัติตามพระวาจา มิใช่เพียงแต่ฟัง ซึ่งเท่ากับหลอกตนเอง”
เพื่อดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับพระวรสารนี้ นักบุญยากอบบอกเราว่า เราได้รับความช่วยเหลือจากเบื้องบน… จากพระบิดาผู้ทรงสร้างความสว่าง และทุกอย่างที่ดีบริบูรณ์ ดังนั้นขอให้รับความเชื่อที่งดงามนี้ทั้งหมด อย่าตัดสินใจในความคิดแคบๆ ของมาร์คีออน หรือ พระวรสาร
บิชอป วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(กรกฎาคม-กันยายน 2015), หน้า 355-387.