Skip to content

ประสบการณ์และความประทับใจในการเข้าร่วมเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปินนส์
ระหว่างวันที่ 24-31 มกราคม 2016

 สังฆมณฑลเชียงใหม่ได้มีตัวแทนเข้าร่วมงานชุมนุมเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์จำนวน 5 ท่าน คือ คุณพ่อ บุญเลิศ  สร้างกุศลในพสุธา  คุณพ่อ ศศิน โหม่โพ  ซิสเตอร์กัญญารัตน์  ดูแฮ ซิสเตอร์ สิริพร  พจนธำรงพงศ์  (แม่ปอน) และซิสเตอร์ ศรีจันทร์ เจริญศิลป์ (มารีนา)

การเดินทางของพวกเราเริ่มแต่เช้าวันที่ 24 มกราคม 2059  เวลา 07.20 น. นั่งเครื่องจากเชียงใหม่ไปสุวรรณภูมิ เพราะนัดรวมกันที่สนามบินสุวรรณภูมิเวลา 10.30 น.  เนื่องจากเราอยู่ไกลจึงมาถึงก่อนจึงมานั่งรอพวกเขากัน งานนี้ซึ่งผู้ใหญ่จากประเทศไทยเราเข้าร่วมด้วยคือพระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช อัครสังฆมรฑลกรุงเทพ บิชอป สิริพงษ์  จรัสศรี จากสังฆมณฑลจันทรบุรี  บิชอป ปัญญา  กฤษเจริญ จากสังฆมณฑลราชบุรี มีบาทหลวงอีก 11 องค์ ซิสเตอร์ 10 ท่าน  ที่เหลือเป็นฆราวาสจากสังฆมณฑลต่าง ๆ รวมกันแล้วมีทั้งหมด 38 ท่านออกเดินทางจากกรุงเทพไปถึงมะนิลาก่อน จากนั้นก็ต่อไปยังเมือง เซบู ถึงประมาณ 22.30 น. เวลาที่ฟิลิปปินส์เร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง  เมื่อไปถึงสนามบินเมืองเซบูก็มีเจ้าหน้าที่มาต้อนรับและพาไปที่โรงแรม  เมื่อถึงโรงแรมก็มีการแนะนำเกี่ยวตารางเวลาและการปฏิบัติในช่วงที่เข้าร่วมงาน  แจกกระเป๋า เอกสารและบัตรสมาชิกให้เรียบร้อย

ในระหว่างวันที่ วันแรกนั้นเรายังไม่เข้าร่วม เราจะไปแสวงบุญตามวัดต่าง ๆ ก่อน โดยจะเข้าร่วมในวันที่  28-31 มกราคม- 2559  เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็เข้านอนประมาณ 23.30 น. โดยนัดหมายกันเช้าเวลา 08.30 น.

 

วันที่ 25  มกราคม  2559

เช้าวันนี้เราก็เดินทางไปแสวงบุญทางภาคใต้ของเกาะเซบู เกาะเซบูนี้ยาวประมาณ 300 กิโลเมตร  กว้างประมาณ 50 กิเมตร การเดินทางในวันนี้ เรามีทหารและตำรวจนำขบวน  เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เรา  เพราะในกลุ่มของเรานั้นมีพระคาร์ดินัลไปด้วย  สำหรับประเทศคาทอลิกแล้วผู้นำสูงสุดในด้านศาสนาภายในประเทศนั้นคือคาร์ดินัล  จึงได้รับเกียรติอย่างสูง เราแวะที่แรกคือสักการสถานนักบุญเปโคร  กาลุงสด (Pedro Calungsod Shrine) เป็นนักบุญองค์แรกของชาวฟิลิปปินส์  เป็นแบบอย่างของเยาวชนด้วย  เพราะท่านเป็นมรณสักขีเมื่ออายุ 17 ปี  เพราะป้องกันบาทหลวงที่ถูกชาวพื้นเมืองทำร้าย  จากนั้นก็ไปยังสักการสถานพระมาดาพระเจ้า (Theotegos Shrine) จากนั้นไปยังวัดนักบุญคาธารีน แห่ง อเล็กซานเดรีย (St.Cathrine of Alexandria) ที่เมืองคาร์คาร์  เราก็ทำมิสซาที่นี่  ซึ่งพระคาร์ดินัลฟรังซิส เซเวียร์  เกรียงศักดิ์โกวิทวาณิช เป็นประธาน ที่นี่มีเยาวชนมาร์ต้อนรับเราอย่างสนุกสนานและมีชีวิตชีวา   ภาคบ่ายไปยังวัดแม่พระแห่งลินโดกอนที่เมืองสิมาลา( Our Lady of Londogon Church in Simala) ที่นี่เป็นสถานที่ที่มีแม่พระปางต่าง ๆ จำนวนมาก  และสร้างใหญ่โต แต่ด้วยแรงศรัทธาของผู้แสวงบุญ และวัดสุดท้ายสำหรับการแสวงบุญทางภาคใต้ของเกาะเซบูคือ วัดอัครเทวดามีคาแอลที่เมืองอาร์เกา (St.Michaeltha Archangel Church in Argao)  วัดนี้สร้างอย่างแน่นหนา  แม้แผ่นดินไหวก็ยังไม่พังเพราะกำแพงวัดหนาเกือบ 1 เมตรเลยที่เดียว  วันนี้เราเจอทั้งฝนและแดด แต่ไม่เป็นอุปสรรคเลยในการรับพรจากวัดต่าง ๆ

 

26  มกราคม  2559

หลังจากที่ไปทางใต้แล้ว  วันนี้เป้าหมายของเราคือไปทางเหนือของเกาะ  โดยมีวัดอีกมากมายที่เราจะได้ไปดู  วัดที่ฟิลิปปินส์นี้  ส่วนใหญ่แล้วใหญ่โต เพราะคาทอลิกกว่า 90เปอร์เซ็นต์  แต่ละวัดมีมิสซาหลายรอย  บางวัดมีมิสซา 12 รอบต่อวัน  เช้าวันนี้เราแวะไปที่อารามคาร์แมล์ไลท์ก่อน  ที่นี่ก็เหมือนที่อื่น ๆ กระแสเรียกก็น้อยลง  วันนี้ยังมีรถนำขบวนเหมือนเดิม แต่ด้วยถนนที่แคบจึงทำให้การเดินทางช้ากว่าปกติ  แต่ว่าถึงที่เป้าหมายตามเวลาวัด St.ThomasDamassene ที่นี่เราทำมิสซาและมีคริสตชนท้องถิ่นร่วมกับเราจำนวนหลายร้อยคน  บิชอปประธานมิสซาต้องเปลี่ยนบทเทศน์จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษทันที  เช้านี้เราได้แค่วัดเดียวก็ใกล้เที่ยงแล้ว  หลังอาหารเที่ยงเราก็ไปต่อที่วัดวัดแม่พระแห่งมาโนโออัก (Our Lady of Manaoag Church) ของคณะเบเนดิกติน ที่นี่อยู่บนเนินมีบริเวณกว้างขวาง ในสถานที่เดินรูป 14 ภาค แถมด้วยมีรูปพระกุมารเยซูองค์ใหญ่ ๆ ด้วย  จากนั้นเราก็ต่อไปยังวัดน้อยแห่งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ (Chapel of the Holy Relics) ที่นี่ว่ากันว่ามีพระธาตุของนักบุญต่างๆ กว่า 1300 องค์ รวมทั้งพระเยซูเจ้า แม่พระ โมเสส เอลียาห์ ส่วนใหญ่เป็นพระธาตุ ชั้นที่ 3  ส่วนนักบุญบางองค์ก็เป็นพระธาตุชั้นหนึ่ง  และพระธาตุของบุญราศีนิโคลาส ก็มีด้วยครับ หลังจากเยี่ยมชมที่แล้วเราก็กลับไปที่พัก

 

27 มกราคม 2559

ในวันนี้ปกติเราต้องไปขึ้นดอยกัน  แต่เนื่องด้วยฝนตก ถนนล่น ทางแคบ  ทางทัวร์ก็เปลี่ยนตารางให้กับเรา ไปเยี่ยมชมวัดน้อยในบ้านอาร์ชบิชอปแห่ง เซบู ชมที่พักของนักบุ ยอห์นปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา ครั้งที่มาเยือนฟิลิปปินส์  จากนั้นเราก็ข้ามไปที่เกาะมาร์ตาน เพื่อเยี่ยมชมโรงงานกีตาร์  อนุเสารีย์ลาปูลาปู  ผู้พิชิตแมคเจแลน

 

28 มกราคม 2559

วันนี้เป็นวันแรกที่เราจะต้องเข้าร่วมการชุมนุมฯ โดยต้องรับสายรัดข้อมือก่อน ส่วนกระเป๋า และป้ายชื่อนั้นได้มาก่อนแล้ว และทั้งสามอย่างนี้เป็นเครื่องหมายว่า เราเป็นกลุ่มที่เข้าร่วมงานชุมนุมนี้  หากต้องการความช่วยเหลือให้บอกกับอาสาสมัครได้ทุกคนตลอดเวลา  เราเข้าไปในหอประชุมที่ภายในบริเวณบ้านเณร ซาน คาร์ลอส  ซึ่งใหญ่โตมาก จุคนได้หมื่นกว่าคน  ที่นี่มีวัดน้อย ในช่วงเวลาที่เราประชุม ก็มีกลุ่มต่าง ๆ มาสวดภาวนา เฝ้าศีล ตลอดจนมรการรับศีลอภัยบาปตลอดเวลาก่อนการแบ่งปันก็มีการทำวัตรร่วมกัน โดยมีบิชอปเป็นผู้นำหลังสวดภาวนาแล้วก็เริ่มการแบ่งปันซึ่งในวันที่ เป็นหัวข้อ “ศีลมหาสนิทและการเสวนากับวัฒนธรรม” ซึ่งบรรยายโยพระคาร์ดินัล หลุยส์ อันตน ตาเกล(His Eminence Luis Antonio Tagle)ซึ่งถือว่าเป็นพระคาร์ดินัลที่เนื้อหอมที่สุดในงานเลยก็ว่าได้  นี่คือหัวเรื่องการสอนคำสอนของพระคาร์ดินัลหลุยส์ อันโตนิโอ ตาเกล (Card. Luis Antonio Tagle) ประมุขอัครสังฆมณฑลมะนิลา ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2016 ที่พูดถึงเหตุผลที่พระศาสนจักรต้องเสวนากับวัฒนธรรม เนื่องจากพันธกิจของพระศาสนจักรไม่สามารถประณามศัตรูของความจริงในพระศาสนจักรและนอกพระศาสนจักรได้ การเสวนาคือพันธกิจและเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่า “ไหวพริบทางวัฒนธรรม” (Culture intelligence) เราต้องมีไหวพริบทางวัฒนธรรมเพื่อเห็นแก่พระวรสารและมนุษยชาติ เนื่องจากเราต้องพบปะผู้คนในวัฒนธรรม

ไหวพริบทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย 1) ฉันรู้จักวัฒนธรรมของฉันและรู้ด้วยว่าวัฒนธรรมของฉันได้บ่มเพาะตัวฉันและมีผลต่อฉันอย่างไร, 2) ฉันได้ศึกษาและพยายามที่จะรู้จักวัฒนธรรมของผู้อื่นจากภายใน และ 3) ฉันได้ตัดสินใจที่จะเรียนรู้จากวัฒนธรรมของฉันและของเขา ท้าทายและทำให้กันและกันบริสุทธิ์ การใช้ไหวพริบทางวัฒนธรรมอย่างชาญฉลาด ทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันถึงความงดงามของวัฒนธรรมแต่ละอย่าง

คาร์ดินัลตาเกลยังพูดถึงความขัดแย้งมากมายซึ่งทำลายโลกของเราวันนี้ รวมถึงการแยกจากกันและการปะทะทางวัฒนธรรม การเสวนาจึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้กระทั่งในบ้าน ในที่ทำงานที่เทคโนโลยีได้ทำให้เกิดการอพยพแบบดิจิตอลของผู้คน และสร้างกำแพงระหว่างสมาชิกในครอบครัวด้วยกัน ที่เรียกว่าวัฒนธรรมแบบปัจเจก (Individual culture) อยู่แบบตัวใครตัวมัน ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่น การถ่ายรูปตนเอง (Selfie) โดยไม่ต้องอาศัยช่างถ่ายภาพ สามารถตกแต่งทำให้ตัวเองดูดีเสมอ วัฒนธรรมแบบดิจิตอลได้หล่อหลอมคนหนุ่มสาวให้เห็นความสำคัญของภาพลักษณ์มากกว่าสิ่งอื่นใด

ขณะที่ศีลมหาสนิทเป็นวัฒนธรรมของการเรียกมารวมกัน (Convocation) เราได้รับการเรียกให้มาร่วมกินอาหารที่มีพระเยซูเจ้าเป็นเจ้าภาพ รู้จักกันอย่างใกล้ชิด พระเยซูเจ้าได้ทำลายการแยกตัวออกไปในวัฒนธรรมแบบปัจเจก ดังนั้น เราต้องเริ่มเสวนากับวัฒนธรรมแบบตัวใครตัวมันในบ้านของเรา ด้วยการกินอาหารร่วมกัน ร่วมโต๊ะอาหารด้วยกัน โต๊ะอาหารจึงเป็นสิ่งพื้นฐานที่สำคัญของมื้ออาหาร เช่นเดียวกันกับที่เราสามารถยืนยันถึงการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้า ผ่านทางการมาประชุมกันทางวัฒนธรรมแบบศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นการชุมนุมกันและแบ่งปันกันในความรัก(คัดจากบทความของพ่อ ขวัญ ถิ่นวัลย์ สงฆ์จากอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง)

 

จบจากนั้น มีการแบ่งปันประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงชีวิต ของชาวญี่ปุ่น ที่ประสบกับภายพิบัติสึนามิ  ตามด้วยมิสซา ซึ่งพระคาร์ดินัลพระสังฆ์ราชและบาทหลวง รวมกันแล้ว น่าจะเกือบ 500 องค์จากนั้นเวลา บ่าย 3โมงก็มีวจนะพิธีศีลอภัยบาป  แต่ช่วงบ่ายผมกับสมาชิกจากเชียงใหม่ออกไปเดินห้างที่อยู่ใกล้ ทานอาหารไทยฝีมือชาวฟิลิปปินส์ แต่ก็โอเคนะ  หลังจากนั้นผมก็ย้อนกลับไปที่หอประชุมเพื่อรับศีลอภัยบาป จนกระทั่งเวลา 18.00 น. เดินทางไปที่วัดพระมหาไถ่  เพื่อร่วมเคารพและแห่ศีลมหาสนิทกับบรรดาคริสตชนที่นั่น  ซึ่งต้องแห่ไป 3 วัดและก็กลับมาจบที่วัดแรก  มีคริสตชนจำนวนมากร่วมงาน  บรรยากาศเต็มไปด้วยความร้อนรน ศรัทธาและศักดิ์สิทธิ์  กลุ่มของผมก็มีพระคุณเจ้าสิริพงษ์และคุณพ่ออีก 4 องค์ มาเซอร์ 2 และฆราวาสอีก 1 เดินร่วมกับชาวบ้าน ได้บรรยากาศมากเลยครับ กว่าจะกลับที่พักปาเข้าไปเกือบ 4 ทุ่ม

 

29  มกราคม 2559

เหมือนวันก่อนคือเริ่มด้วยการทำวัตรเช้า ตามด้วยการคำสอน “เรื่องการเสวนากับคนยากจนและผู้อยู่ในความทุกข์” พระคาร์ดินัลยอห์น  โอไนเยกัน พระคาร์ดินัลจอห์น โอไนเยกัน (Card. John Onaiyekan) จากประเทศไนจีเรีย ได้สอนคำสอนเรื่อง “ศีลมหาสนิท การเสวนากับคนจนและผู้ทุกข์ยาก (Eucharist: Dialogue with the poor and the suffering)” โดยพูดถึงความยากจนทางวัตถุซึ่งเป็นความยากจนที่ใกล้ตัวที่สุดในพระศาสนจักร ศีลมหาสนิทแสดงถึงความดีของพระเจ้าในการมอบพระองค์เองแก่มนุษยชาติ และความจำเป็นเพื่อการแบ่งปันระหว่างลูกของพระเจ้าโดยเริ่มจากในพระศาสนจักรก่อน ยังมีความยากจนฝ่ายวิญญาณที่แสดงออกในรูปของความเห็นแก่ตัว ศีลมหาสนิทท้าทายเราให้มองเห็นแต่ละคนเป็นพี่น้อง เป็นลูกของพระบิดาเจ้าสวรรค์องค์เดียวกัน และพระศาสนจักรต้องเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเพื่อคนจน

นอกนั้น ยังพูดถึงความทุกข์ยากลำบากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ซึ่งมีหลายรูปแบบทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ศีลมหาสนิทได้แสดงให้เราเห็นว่าพระเยซูเจ้าถูกตรึงบนไม้กางเขน เพื่อแบ่งปันสภาพความทุกข์ยากลำบากของมนุษย์ เราต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ศีลมหาสนิทเป็นประโยชน์สำหรับคนจนในสลัมหรือหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล ผู้ที่อยู่ในคุกและถูกจองจำ รวมถึงผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากควรมีโอกาสได้พิศเพ่งพระพักตร์ของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท

ในเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกันมีพิธีบูชาขอบพระคุณที่ศาลาว่าการของเมืองเซบู (Cebu Capitol Site) โดยอาร์ชบิชอปดีร์มิด มาร์ติน (Diarmuid Martin) จากอัครสังฆมณฑลดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ท่ามกลางคริสตชนชาวเซบูที่มาร่วมเป็นจำนวนมาก โดยย้ำเตือนผู้มาร่วมพิธีว่าพระศาสนจักรกลายเป็นปัจจุบันผ่านทางศีลมหาสนิท ถ้าไม่มีศีลมหาสนิทก็ไม่มีพระศาสนจักร ไม่มีพระศาสนจักรโดยปราศจากศีลมหาสนิทเพราะศีลมหาสนิทสร้างพระศาสนจักร

หลังพิธีบูชาขอบพระคุณมีพิธีอวยพรและแห่ศีลมหาสนิท ซึ่งผู้จัดงานคาดการณ์ว่าจะมีผู้มาร่วมงานนี้ประมาณ 3 แสนคน แต่เมื่อเริ่มขบวนแห่ศีลมหาสนิทจำนวนผู้มาร่วมได้เพิ่มเป็นกว่า 1 ล้านคนหรือมากถึง 1.5 ล้านคนตามรายงานของหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น อันแสดงถึงความเชื่อศรัทธาของพี่น้องชาวฟิลิปปินส์ที่มีต่อศีลมหาสนิท เป็นคลื่นมหาชนที่เคลื่อนจากหน้าศาลาว่าการเมืองไปถามถนนสู่จัตุรัสอิสรภาพ (Plaza Independencia) ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร ร่วมกับผู้คนสองเต็มสองข้างทางโดยมีบรรดาเด็กและเยาวชนยืนถือเทียนอยู่แถวหน้า เป็นภาพแห่งความศรัทธาที่ทุกคนต่างประทับใจและกลายเป็นสถิติการแห่ศีลมหาสนิทที่มีผู้ร่วมมากที่สุด(คัดจากบทความของพ่อ ขวัญ ถิ่นวัลย์ สงฆ์จากอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง)

ตามด้วยการแบ่งปันของเด็กเร่ร่อนที่ได้รับความช่วยเหลือ  เวลานี้เขาก็ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเร่ร่อนต่อไป  วันนี้มีคำสอน 2 รอบ รอบต่อไปเป็นเรื่อง “ศีลมหาสนิทและการเสวนาของพระศาสนาจักรและศาสนาต่าง ๆ “ ซึ่งเป็นพระคาร์ดินัลออสวัลด์กราเซียส์ เป็นผู้แบ่งปัน  แต่ท่านติดธุระ จึงมอบให้บิชอป  ดอมินิก จาลา แห่งสังฆมณฑลชีลอง  (ซึ่งเป็นอาจารย์เก่าของผมเวลาไปเรียนที่อินเดียด้วย  หลังอาหารเที่ยงประมาณบ่าย 2 โมง  ทุกคนก็เคลื่อนต่อไปยังศาลาว่าการเมืองเซบู (Cebu Capitol Building)  เพื่อร่วมมิสซาและแห่ศีล

30  มกราคม  2559

วันนี้เป็นวันที่ 3 ที่เราได้เข้าร่วมงาน  เริ่มด้วยการทำวัตรเหมือนเดิม  หลังจากทำวัตรแล้ว  มีคำสอนเรื่อง “ศีลมหาสนิทและพระแม่มารี “ โดยพระคราร์ดินัลทิโมธี  โดลัน แห่งนิวยอร์คท่านอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างศีลมหาสนิทกับแม่พระ 3 ประเด็น คือ การถวายตัว (ถวายบูชา) จากความใกล้ชิด  ที่แม่พระอยู่ใต้เชิงกางเขน  เวลาที่พระเยซูเจ้าได้ถวายตัวแด่พระบิดา  การเสียสละของพระเยซูเจ้าทำให้มีพลัง  แผ่นดินสั่นสะเทือน  ฟ้ามืด  ผ้าม่านฉีกขาด  การถวายบูชาเป็นการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูในความทุกข์ยาก และอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจคือ ใกล้แท่นนั้นก็คือใกล้แม่พระ  2 คือ อาหาร  แท่นบูชาเป็นโต๊ะอาหารที่เราคริสตชนมารวมกัน  ครอบครัวของพระได้รับอาหารจากโต๊ะนี้  โดยเฉพาะในวันอาทิตย์  ฉะนั้นการฟื้นฟูชีวิตครอบครัวที่ดีที่สุดคือทานอาหารร่วมกัน  3 คือ ศีลมหาสนิทกับการมีอยู่จริงของพระเยซูเจ้าในแผ่นผังและเหล้าองุ่น   จากนั้นเป็นการแบ่งปันชีวิตแห่งการกลับใจของ  คุณศิรินธร   จากประเทศไทย  ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ฟัง  โดยมีเสียงปรบมือเป็นระยะ  หลังจากแบ่งปันแล้วมีคนมาขอถ่ายรูปอีกเป็นชั่วโมงเลย  ทำให้มีคนสนใจคนไทยมากขึ้นอีก

ตอนบ่ายสองโมง  เราก็เคลื่อนไปยัง Cebu City Sport Complex  เพื่อร่วมมิสซาในโอกาสรับศีลมหาสนิทครั้งแรกจำนวนกว่า 5000 คน  ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย  เป็นพิธีบูชาแบบเด็ก  ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์  หลังพิธีมิสซา ก็มีการแสดง Sinulog ซึ่งเป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่ในเมืองเซบูก็ว่าได้  เพราะจะมีการแข่งขัน  ชิงแชมป์กันทีเดียว  ซึ่งเราได้ชมแล้วก็สมกับที่รอคอย หลังการแสดงมีการจุดพลุกันสนั่นเมือง  เพราะเราอยู่ในสนามกีฬาที่จุคนได้ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน

 

31  มกราคม 2559

เช้านี้บรรดาตัวแทนทั้งหลายจะมีการประชุมหารือกัน ในการจัดงานครั้งต่อไป  ส่วนพวกเราก้ว่าง  จึงได้ออกทัวร์อีกรอบหนึ่ง  เป้าหมายของเราคือ BacilicaMinore del Santo Nino Church และต่อไปยังไม้กางเขนของแมคเจแลน  ซึ่งเป็นกางเขนเหล็กที่แมคเจแลนมาปักที่แผ่นดินฟิลิปปินส์ครั้งแรก  ที่นี่ก็มีกลุ่มสตรีที่สวดภาวนาแบบเต้นรา  เวลาที่มีคนมาขอคำภาวนา  แต่ต้องซื้อเทียนสีต่าง ๆ จำนวน 5 สี ๆ ละ เล่ม (คล้าย ๆ รำแก้บนบ้านเราที่ศาลพระรพรหม  จากนั้นเยี่ยมชมป้อม ซานเปโดร ซึ่งเป็นป้อมเหลี่ยมที่เก่าแก่และเล็กที่สุดในฟิลิปปินส์ เนื่องจากวันอาทิตย์จึงมีคนจำนวนมากมาร่วมมิสซาตอนเช้า  เพราะวันนี้ตอนบ่ายงดมิสซาทั้งหมด  เพื่อที่จะไปร่วมงานปิดชุมนุมเคารพศีลมหาสนิทในเวลา 16.00 น.  แต่ทางการบอกว่าให้รีบไปตั้งแต่เที่ยงเป็นต้นไป  เพราะการจราจรที่แออัด หนาแน่น  ส่วนพวกเราก็มีรถตำรวจนำขบวนอีกวันหนึ่ง  การเดินทางจึงสะดวกกว่าชาวบ้านทั่วไป

ที่ลานสำหรับมิสซาปิดงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 1.5 ล้านคน และตัวแทนคาร์ดินัล บิชอป บาทหลวง นักบวชและตัวแทนจากประเทศต่างอีกกว่า 15,000 คน มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น  ต้องเอ็กเรย์กระเป่า  คนด้วย  ประธานมิสซาปิดงานครั้งนี้คือตัวแทนพระสันตะปาปา พระคาร์ดินัลชาร์ลมัง โบ  เป็นชาวพม่าท่านได้กล่าวชื่นชมการจัดงานและพูดถึงพลัง จากพยากรณ์อากาศในวันแรกที่เรามาถึงบอกว่า ในวันนี้ฝนจะตกหนัก  พระคาร์นัลตาเกลบอกว่า  เราไม่กลัวที่โคลนจะเปื้อนเท้าของเรา  แต่วันจริงแดดเปรี้ยงเลย  อากาศร้อนมาก  แต่ก็ไม่มีใครถอยไปที่ร่มเลย (เพราะที่ร่มไม่มีมีแต่ร่มแทน)  ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมง มีนักขับกว่าพัน พร้อมกับวงออเคสตาร์ของมหาวิทยาลัย มาร่วมงานด้วยสร้างบรรยากาศดีมาก  โดยเฉพาะเพลงทางการของงานครั้งนี้  เนื่องจากส่วนร้องได้  จึงทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความชื่นชมยินดี  หลังจากมิสซาก็มีบิชอปเจ้าภาพ  ได้กล่าวคำขอบคุณตัวแทนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานตลอดจนหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือต่อด้วยคำปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรังซิสที่กล่าวชื่นชมชาวฟิลิปปินส์ที่ได้เป็นเจ้าภาพ และถือว่าเป็นชาติเอเชียที่คาทอลิกมากที่สุดด้วย  ให้ออกไปแพร่ธรรม  โดยส่งลูกหลานไปทั่วโลก การอพยพไปทำงานตามที่ต่าง ๆ ก็เป็นมิชชั่นเนรี่ตามบทบาทหน้าที่ของเรา จากนั้นพระองค์ก็ได้ประกาศเจ้าภาพงานชุมนุมเคารพศีลมหาสนิทครั้งต่อไป คือ เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี  ซึ่งได้รับการปรบมือดังกึกก้องสนาม  พระสังฆาราช โจเซ่ ได้มอบเครื่องการชุมนุมเคารพศีลมหาสนิทครั้งต่อไปให้กับพระคาร์ดินัล

บทสรุป

งานเคารพศีมหาสนิทนานชาติครั้งที่ 51นี้  มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วม 13,158 คน  จาก 73 ชาติ  ประเทศที่เข้าร่วมมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ฟิลิปปินส์  8,667 คน  ใต้หวัน  500 คน  อเมริกา 155 คนชาวเน็ตมากว่า 10,000 คนทั่วโลก  มีรถบัสบริการกว่า 115 คัน  มีคนกดไลค์ 26,000 คน และเยี่ยมชมเวปเพจกว่า 37,235,807 คน

ชื่นชมผู้จัดงานที่จัดได้ดีมาก และประชาชนที่ให้ความสนใจและร่วมมือไม่ว่าวัดต่างๆ ต่างก็ต้อนรับผู้มาเยือนอย่างดี เห็นจากผู้ที่รอต้อนรับหน้าวัด  ตลอดจนช่วยเหลือตัวแทนประเทศต่าง ๆ สิ่งที่สัมผัสได้คือความรักของพระเจ้าผ่านทางศีลมหาสนิท  ทำให้เกิดพลัง  ความร้อนรน  ความศรัทธา และเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งแต่ละคนและสังคมด้วย  ขอพี่น้องได้มีความศรัทธาในสีลมหาสนิทมาก ๆ เพราะนี่คืออาหารที่ให้พลังแก่ความเชื่อของเรา

สุดท้ายนี้ อยากขอบคุณพระคุณเจ้าวีระ  อาภรณ์รัตน์ที่ได้ให้โอกาสแก่พวกเราทั้ง 5 คน จากสังฆมณฑลเชียงใหม่ ให้ไปร่วมงานเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติครั้งนี้ พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดงานด้วย